สจล.ไม่คัดค้านทางยกระดับหมายเลข 7 แต่ห่วงผลการศึกษา EIA ไม่ครอบคลุมผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันฯ และชุมชนโดยรอบ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หารือโครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) ตั้งแต่ช่วงศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งตามแผนดำเนินการจะมีทางยกระดับส่วนต่อขยายเลยมาถึงพื้นที่ของ สจล. ร่วมกับ “กรมทางหลวง” ระบุว่าในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศชาติ แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสถาบันและชุมชนโดยรอบ ทั้งในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการจราจร และด้านภูมิทัศน์ จึงทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลและเสียงสะท้อนจากประชาคม สจล. และประชาชนโดยรอบ สำหรับประกอบการจัดทำแผนการดำเนินงานให้เหมาะสมและส่งผลกระทบน้อยที่สุด

“รศ.สุพจน์ ศรีนิล” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาคาร และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เปิดเผยว่า สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและผลประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศชาติ จากโครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) ตั้งแต่ช่วงศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่เนื่องจากตามแผนดำเนินการจะมีทางยกระดับส่วนต่อขยาย เลยมาถึงพื้นที่ของ สจล. ทำให้พื้นที่บางส่วนต้องถูกเวนคืนเป็นระยะไม่ต่ำกว่า 30 เมตร ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณนั้น เนื่องจากทางสถาบันฯ มีโครงการใช้ประโยชน์และพัฒนาพื้นที่ในอนาคตอันใกล้เท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันการก่อสร้างทางยกระดับความสูงประมาณ 16-18 เมตร ยังส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ ซึ่งจากการติดตามผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA พบว่ายังไม่ครอบคลุม ได้แก่

1.ด้านสิ่งแวดล้อม : เนื่องจากตอม่อทางยกระดับสร้างอยู่ในแนวคลองระบายน้ำติดมอเตอร์เวย์ ซึ่งสถาบันใช้เป็นที่ระบายน้ำฝนในช่วงหน้าฝน ถึงแม้ว่าจะมีการออกแบบเป็นการฝังท่อระบายน้ำทดแทน แต่ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม

2.ด้านการจราจร : ทั้งในขณะก่อสร้างและหลังโครงการแล้วเสร็จ ซึ่งผลการศึกษาไม่มีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ในส่วนนี้ จึงไม่แน่ชัดว่าถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์ฝั่งติด สจล. รถจะยังสามารถวิ่งเป็นเลนสวนกันได้หรือไม่ หากไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อการเชื่อมต่อเข้าสถาบัน โดยที่ผ่านมายังไม่มีการพูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบ

3.ด้านภูมิทัศน์ : โดยเฉพาะบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 4 และอาคารทรงไทย ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและกิจกรรมสำคัญต่างๆ ของนักศึกษา คณาจารย์ พนักงาน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาคม สจล.

“รศ.สุพจน์” กล่าวต่อว่า นอกจากผลกระทบข้างต้นแล้ว ตามแผนการก่อสร้างโครงการนี้กลับไม่ส่งผลประโยชน์ ทั้งต่อชาว สจล. และชุมชนโดยรอบสถาบันฯ เนื่องจากจุดสิ้นสุดทางยกระดับอยู่ในช่วง กม.ที่ 18 ซึ่งเลยทางเข้า สจล. และจุดเชื่อมต่อถนนถนนฉลองกรุงและถนนอ่อนนุช ทางเชื่อมสู่ชุมชนโดยรอบสถาบัน ซึ่งที่ผ่านมา สจล. เคยได้ท้วงติงในประเด็นนี้ไปแล้ว แต่กรมทางหลวงยังคงนิ่งเฉย

ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลและเสียงสะท้อนจากประชาคม สจล. และประชาชนโดยรอบ สำหรับประกอบการจัดทำแผนการดำเนินงานให้เหมาะสมและส่งผลกระทบน้อยที่สุด เพราะหากนิ่งเฉยปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปโดยไม่ใส่ใจ นอกจาก สจล. และชุมชนโดยรอบจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบแล้ว ในอนาคตอาจต้องแบกรับแต่ภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย

“จากการหารือกันภายใน สจล. เห็นควรให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อปรึกษาหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่างผู้เชี่ยวชาญของกรมทางหลวง ผู้เชี่ยวชาญของ สจล. และตัวแทนประชาชนชุมชนต่างๆ โดยรอบที่ได้รับผลกระทบ ในการปรับปรุงแผนการก่อสร้างให้เหมาะสมและครอบคลุมผลกระทบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการจราจรและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านเสียง ฝุ่นละออง การระบายน้ำ รวมไปถึงความปลอดภัยและทัศนยภาพ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าแก่การลงทุนของประเทศ”

ทั้งนี้ ในการหารือร่วมกันระหว่าง สจล. กับ กรมทางหลวง ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.นครินทร์ สัทธรรมนุวงศ์ ผู้จัดการโครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) และผู้แทนจากกรมทางหลวง ได้ข้อสรุปว่าในเบื้องต้นจะมีการนำข้อเสนอของ สจล. เรื่องการตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกัน รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบในด้านต่างๆ เสนอต่อผู้บริหารกรมทางหลวงต่อไป เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันในการดำเนินงานและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย