ประมูลสายสีแดง/รถไฟไทย-จีนสะดุด รอไฮสปีด ซี.พี.เคลียร์จุดทับซ้อน” บางซื่อ-ดอนเมือง

มาก่อนสร้างก่อน - ภาพจำลองสถานีดอนเมือง จุดทัพซ้อนของ 3 โครงการ คือ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินซึ่งทางการรถไฟฯมีข้อสรุปแล้วว่า โครงการไหนที่พร้อมจะก่อสร้างก่อนจะเป็นผู้ลงทุน ซึ่งจุดนี้ทางกลุ่ม ซี.พี.จะเป็นผู้ลงทุนไปก่อน คิดเป็นวงเงินประมาณ 4 พันล้านบาท
เจรจาไฮสปีด ซี.พี.ยืดเยื้อ กระทบชิ่งประมูลรถไฟไทย-จีนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และรถไฟฟ้าสายสีแดง Missing Link ดีเลย์ รอเคลียร์แบบก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน 3 โครงการ หลังโยกงบฯสร้างอุโมงค์-งานโยธา 10 กม. กว่า 7.2 พันล้านรวมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ร.ฟ.ท.ให้เวลา 1 ปีทุกอย่างต้องจบ คมนาคมหวั่นฉุดงานหลุดเป้า จ่อชง ครม.ขอเดินหน้าประมูลสายสีแดงไปก่อน เร่งตอกเข็มให้ทันเป้าปี’62

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลจากการที่ใช้เวลาเจรจากับกลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร ผู้เสนอราคาต่ำสุดในการประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ทำให้โครงการที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกับแนวเส้นทางต้องชะลอการประมูลโครงการออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนของโครงการประกอบด้วย รถไฟสายสีแดง Missing Link และส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงพญาไท-ดอนเมือง และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

เว้นประมูลบางซื่อ-ดอนเมือง

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดขายซองประมูลก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,421 ล้านบาท จำนวน 5 สัญญา รวมระยะทาง 144 กม. วงเงินรวม 58,168 ล้านบาท โดยเป็นการประมูลรูปแบบ e-Bidding

จะให้ยื่นซองวันที่ 11 เม.ย.นี้ จำนวน 2 สัญญา ได้แก่ ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. วงเงิน 13,293 ล้านบาท และช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. เงินลงทุน 10,917 ล้านบาท อีก 3 สัญญากำลังเปิดขายทีโออาร์ประมูล รวมระยะทาง 99.26 กม. วงเงินรวม 33,958 ล้านบาท

ได้แก่ ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บ้านม้า ระยะทาง 30.21 กม. เงินลงทุน 11,063 ล้านบาท, ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. เงินลงทุน 11,655 ล้านบาท และช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. เงินลงทุน 11,240 ล้านบาท จะเปิดขายทีโออาร์ถึงวันที่ 13 พ.ค. และยื่นซองประมูลวันที่ 14 พ.ค.นี้

อีก 7 สัญญาที่เหลืออยู่ระหว่างปรับรายละเอียดและจัดทำราคากลางร่วมกับจีน ได้แก่ 1.อุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง 2.ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง 3.ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา 4.บางซื่อ-ดอนเมือง 5.งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 6.ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว และช่วงสระบุรี-แก่งคอย ตั้งเป้าจะประมูลให้เสร็จในเดือน พ.ค. และเริ่มก่อสร้างในเดือน ส.ค.เป็นต้นไป

“ภายในเดือน เม.ย.นี้จะเปิดรับฟังทีโออาร์ของ 6 สัญญา อีก 1 สัญญาที่ยังเหลือคือช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่กำลังเจรจากับกลุ่ม ซี.พี. เพราะมีโครงสร้างที่ทับซ้อนกันอยู่”

สร้างไปก่อน 7 พันล้าน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า เอกชนผู้ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะต้องรับผิดชอบค่าก่อสร้าง จำนวน 7,210 ล้านบาท ในส่วนที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการอื่น ๆ ไปก่อน แบ่งเป็นมูลค่าเงินลงทุนในส่วนของอุโมงค์ของโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ส่วนต่อขยาย และสายสีแดง Missing Link จำนวน 3,200.86 ล้านบาท และโครงสร้างงานโยธาช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง จำนวน 4,009.81 ล้านบาท

“ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 10 กม. ซึ่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีการใช้ระบบรางร่วมกับ 3 โครงการ ได้แก่ สายสีแดง รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น”

นายวรวุฒิกล่าวว่า ตามหลักการแล้วโครงการใดที่มีความพร้อมที่สุดก็ต้องลงทุนก่อสร้างโครงสร้างรองรับไว้ก่อน จากนั้นถึงมาชำระค่าก่อสร้างภายหลัง คาดว่าช่วงนี้จะมีค่าก่อสร้างประมาณ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากพื้นที่ดอนเมืองมีค่อนข้างจำกัดจึงจำเป็นต้องใช้รางร่วมกัน

จีน-ญี่ปุ่นยังไม่เฟิร์มใช้รางร่วม

“มีแนวโน้มที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะเริ่มก่อสร้างก่อน เนื่องจากรถไฟไทย-จีนยังต้องออกแบบและการเจรจากับจีนยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่นยังไม่มีข้อสรุปรูปแบบการลงทุนร่วมกับญี่ปุ่น ไม่ว่าจีนหรือญี่ปุ่นยังไงจะต้องใช้ราง ระบบอาณัติสัญญาณและระบบการเดินรถร่วมกัน ซึ่งเจ้าของเทคโนโลยีจะต้องมาคุยกัน”

ในเส้นทางที่มุ่งหน้าไปสนามบินดอนเมือง เมื่อออกจากสถานีกลางบางซื่อจะมีราง 2 คู่ แบ่งแยกไว้สำหรับรถไฟความเร็วสูงอยู่แล้ว 1 คู่ วิ่งขนานกันไปจนเมื่อใกล้จะถึงดอนเมืองทั้ง 2 คู่จะมีคู่หนึ่งยกระดับขึ้นมาซ้อนกัน เพราะบริเวณดอนเมืองมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ โดยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะอยู่ชั้นล่าง ส่วนรถไฟไทย-จีนจะอยู่ข้างบน

นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า สำหรับสายสีแดง Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157 ล้านบาท ได้ปรับกรอบเวลาการประมูลใหม่ให้อยู่ภายในกรอบเวลาในปี 2562 หลังจากโครงการล่าช้ามานานแล้ว นับจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติไปแล้วเมื่อปี 2559 ล่าสุดเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนเสนอให้ ครม.รับทราบแล้ว

ให้เวลา 1 ปีเคลียร์ให้จบ

“มีพื้นที่ช่วงสร้างเป็นอุโมงค์คลองแห้ง ช่วงสถานีจิตรลดาที่ต้องใช้เขตทางร่วมกัน จะให้เอกชนที่ชนะประมูลก่อสร้างงานส่วนนี้ไปก่อน มีมูลค่างานประมาณ 3,200 ล้านบาท ซึ่งแนวทางเพื่อให้รถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนนี้เดินหน้าประมูลจะเว้นงานช่วงนี้ไป และให้ผู้รับเหมาที่ชนะก่อสร้างพื้นที่ไปก่อน ในช่วง 1 ปีที่รอความชัดเจนของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า พื้นที่ช่วงที่เป็นอุโมงค์ตรงสถานีจิตรลดาที่ออกแบบเป็นคลองแห้ง เดิมแยกสร้าง 3 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์และรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก ด้วยพื้นที่มีจำกัด ที่ผ่านมายังไม่รู้ว่าจะแชร์พื้นที่ร่วมกันอย่างไร

คมนาคมชง ครม.ขอลุยสายสีแดง

ตอนนี้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่เอกชนจะเป็นผู้ลงทุนและได้สิทธิโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ไปด้วย ทำให้เหลือ 2 โครงการ และนำงานก่อสร้างส่วนอุโมงค์ไปรวมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หากล่าช้ากระทรวงกำลังพิจารณาว่าจะเดินหน้าสายสีแดงไปก่อน เนื่องจากมีความพร้อมมากที่สุด