ศาลปกครองฯมีคำพิพากษาห้ามการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ ปิดการจราจรถ.แจ้งวัฒนะ กรณีก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู

เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ๕๓๙/๒๕๖๒ หมายเลขแดงที่ ๔๐๓/๒๕๖๒ ระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ลา ลูน่า ผู้ฟ้องคดี กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกประกาศแจ้งปิดเบี่ยงจราจรพื้นราบทุกช่องทางชั่วคราว บนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ เพื่อดำเนินงานตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ระหว่างเวลา ๒๒.๐๐ – ๐๔.๐๐ นาฬิกา

โดยศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า หนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ฉบับลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ เป็นเพียงหนังสือสั่งการภายในระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาของเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ทราบแผนการใช้ถนนบริเวณพิพาทเพื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ใช้หนังสือสั่งการภายในดังกล่าวเป็นหนังสืออนุญาตให้บริษัทซิโน – ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ได้ออกหนังสืออนุญาตแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ หรือบริษัทซิโน – ไทยฯ โดยตรง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวที่สั่งการให้ปิดเบี่ยงจราจรบนถนนตลอดความยาวของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยปิดเบี่ยงจราจร ๑ ช่องทาง ด้านขวาชิดเกาะกลางทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก เป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง ในพื้นราบ และปิดเบี่ยงเพิ่มอีก ๑ ช่องทาง ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกในเวลากลางคืนบนสะพานข้ามแยก ตั้งแต่เวลา ๒๒.๐๐ – ๐๔.๐๐ นาฬิกา มีระยะเวลาการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๔ ซึ่งการปิดเบี่ยงจราจรดังกล่าวเป็นการห้ามรถทุกชนิดวิ่งในช่องทางที่ปิดจราจร อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนบนถนน โดยไม่ระบุเหตุจำเป็นที่ต้องปิดจราจรเฉพาะทางตอนใด ในช่วงเวลาใด ให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการก่อสร้างในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้มีผลกระทบต่อการใช้ถนนของประชาชนเท่าที่จำเป็นในแต่ละช่วงเวลา และระยะเวลาที่ขออนุญาตปิดเบี่ยงจราจรเป็นเวลาถึง ๒ ปี กับอีก ๘ เดือน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขออนุญาตปิดจราจรเป็นการชั่วคราวตามที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น เมื่อการอนุญาตให้ปิดจราจรในลักษณะเช่นนี้ มีผลเท่ากับห้ามรถทุกชนิดวิ่งบนถนนถึง ๒ ช่องทาง ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เป็นเวลา ๒ ปี ๘ เดือน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะอนุญาตตามแผนการใช้ถนนบริเวณพิพาทได้ และมีผลบังคับใช้ต่อประชาชนผู้ใช้ถนน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบที่จะต้องออกประกาศ ข้อบังคับ หรือระเบียบตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงความจำเป็นในการใช้ถนนในทางสายใด หรือเฉพาะทางตอนใดให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการก่อสร้างในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละช่วงเวลา

โดยอาจกำหนดเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นต้องขออนุญาตเพิ่มเติมเป็นคราวๆ ได้ เพื่อมิให้เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนเกินความจำเป็น และต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป มิเช่นนั้นแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่อาจนำข้อสั่งการตามแผนการใช้ถนนบริเวณพิพาทไปจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชน อีกทั้งไม่อาจนำไปบังคับใช้ในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ประชาชนผู้ใช้ถนนได้

เมื่อหนังสืออนุญาตของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชนมิได้เป็นการอนุญาต หรือออกเป็นประกาศ ข้อบังคับให้ถูกต้อง ตามมาตรา ๑๑๔ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๓๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้วแต่กรณี หนังสืออนุญาตดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกประกาศแจ้งปิดเบี่ยงจราจรพื้นราบทุกช่องทางชั่วคราว บนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ เพื่อการก่อสร้างตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ระหว่างเวลา ๒๒.๐๐ – ๐๔.๐๐ นาฬิกา โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อ้างถึงการได้รับอนุญาตตามหนังสือของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยบริษัทซิโน – ไทยฯ กระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรในพื้นราบทุกช่องทาง บนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าหลักสี่ ตั้งแต่บริเวณเชิงทางขึ้นสะพานข้ามแยกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถึงบริเวณสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ หรือมีการออกประกาศ ข้อบังคับจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ สำหรับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

คดีนี้อธิบดีศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยเร่งด่วน ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๔๙/๒ ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมตามระเบียบฯ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เพื่อให้ศาลสามารถพิจารณาพิพากษาคดีให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วตามลักษณะคดีที่มีความจำเป็นต้องพิจารณาโดยเร่งด่วน ซึ่งคดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๒ และเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๒ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยห้ามผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ปิดการจราจรในพื้นราบช่องทางด้านซ้ายที่ติดทางเท้าบนถนนแจ้งวัฒนะ ฝั่งขาเข้ามุ่งหน้าหลักสี่ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หลังจากนั้น ศาลปกครองกลางได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ และได้มีคำพิพากษาในวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ รวมระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองกลางทั้งสิ้น จำนวน ๑๘ วัน