ไฟเขียว ทอท.ประมูลรันเวย์ 3 สุวรรณภูมิ2.1หมื่นล้านให้เสร็จปีนี้ “บิ๊กตู่” สั่งทอท.-คมนาคมเกาะติด EHIA

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เม.ย. มีมติอนุมัติโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ เงินลงทุน 21,795.941 ล้านบาท โดยมีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เป็นเจ้าของโครงการ หลังจากนี้ ทอท.สามารถเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างและออกประกาศขอบเขตงาน (TOR) ได้

แต่การลงนามในสัญญายังไม่สามารถทำได้ เพราะจะต้องรอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ก่อน ซึ่งปัจจุบันรายงาน EHIA อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) เคยเสนอไปแล้ว 4 ครั้ง กระทรวงจึงให้ ทอท.ไปทำข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเสนอเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำชับในที่ประชุม ครม. ให้กระทรวงติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด

สำหรับงบลงทุน 21,795.941 ล้านบาท กระทรวงได้ทำตามข้อแนะนำของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) ที่เห็นควรให้ปรับลดลง 622 ล้านบาท (งบเดิม 22,418 ล้านบาท) โดยให้ตัดเนื้องานแท็กซี่เวย์ B2 และค่าที่ปรึกษาคุมงานออก ให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ทำให้โครงการมีมูลค่าผลตอบแทนเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ 3.74% มีระยะคืนทุน 20 ปี 9 เดือน

ปัจจุบันรันเวย์ที่ 1 และ 2 สามารถรองรับเที่ยวบินได้ที่ 68 เที่ยวบิน/ชม. หรือเฉลี่ยรันเวย์ละ 34 เที่ยวบิน/ชม. เมื่อรันเวย์ที่ 3 สร้างเสร็จ จะทำให้การบริหารจำนวนเที่ยวบินสูงสุดที่จะรับได้ (Capacity) ของทั้ง 2 รันเวย์ลดลงเหลือ 30 เที่ยวบิน/ชม. เนื่องจากรันเวย์ที่ 1 และ 3 ตั้งอยู่ติดกัน เมื่อรวมทั้ง 3 รันเวย์จะสามารถรองรับได้ 94 เที่ยวบิน/ชม. หรือคิดเป็น 90 ล้านคน/ปี โดยรันเวย์ที่ 3 จะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2565

ทั้งนี้ ได้มีการประมาณการฐานะทางการเงิน ของ ทอท.เพิ่มเติมในระยะ 10 ปี ข้างหน้า (2562-2572) คาดว่าจะยังมีกำไรต่อไปอย่างน้อยปีละ 32,394 ล้านบาท ถือว่าเพียงพอต่อการรองรับโครงการลงทุนอื่นๆ ของ ทอท. อีก 5 โครงการ

ได้แก่ โครงการพัฒนาสนามบินภูเก็ต ระยะที่ 2 เงินลงทุน 5,700 ล้านบาท, โครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (Setellite 2) เงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท, โครงการรันเวย์ที่ 3, โครงการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 เงินลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 1 เงินลงทุนประมาณ 14,400 ล้านบาท