พ.ย.นี้รถ 2 ขบวนแรกสายสีแดงถึงเมืองไทย

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ติดตามความคืบหน้าการจัดหาขบวนรถของรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต มีกลุ่ม MHSC (มิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม) จากประเทศญี่ปุ่น ผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 วงเงิน 32,399 ล้านบาท

ขณะนี้การประกอบขบวนรถที่ผลิตโดยบริษัท ฮิตาชิ จากทั้งหมดสั่งซื้อ 130 ตู้ ประกอบเสร็จแล้วจำนวน 2 ขบวน แบบ 4 ตู้ และแบบ 6 ตู้ โดยในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้จะเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่น และมาถึงประเทศไทยประมาณเดือน พ.ย.นี้ จากนั้นจะนำขบวนรถมาทดสอบระบบประมาณปลายปีนี้ถึงปี 2563 เนื่องจากจะต้องมีการทดสอบระบบเสมือนจริงอย่างน้อย 6 เดือน ถึงจะเปิดให้บริการได้ ตามแผนจะเปิดบริการในเดือน ม.ค. 2564 คาดว่ามีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 300,000 เที่ยวคนต่อวัน

สำหรับระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าสายสีแดงจะใช้ระบบ ETCS ตามมาตรฐานยุโรปที่สามารถใช้ได้กับหลายระบบ ซึ่งรูปแบบของขบวนรถไฟฟ้าที่จะใช้ให้บริการในโครงการ เป็นรถไฟฟ้าวิ่งบนรางขนาด 1 เมตร มีระบบสายส่งไฟเหนือศีรษะ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. ขบวนรถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภท 4 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,126 คน และประเภท 6 ตู้/ขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,714 คน

นายวรวุฒิกล่าวว่า ทั้งนี้ สายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตที่กำลังก่อสร้าง แบ่งเป็น 3 สัญญา ได้แก่ งานสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง เริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2556 มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU (บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ยูนิคฯ) เป็นผู้ก่อสร้าง จะแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2562

สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างทางวิ่งยกระดับและระดับพื้น งานสถานี 8 แห่ง และถนนเลียบทางรถไฟและถนนทางข้ามไซต์ก่อสร้างของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หลังเริ่มงานตอกเข็มเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2556 จะเสร็จในเดือน ก.ย. 2562 และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล และจัดหาตู้รถไฟฟ้า ได้เริ่มงานเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 ตามสัญญาจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2563