งานด่วน “บิ๊กทางหลวงชนบท” ลุยไทยแลนด์ริเวียร่าภาคใต้ เนรมิตถนนสวย 3 พันสาย 9 พันหมู่บ้าน

สัมภาษณ์พิเศษ

ได้หวนคืนเก้าอี้ใหญ่ในถิ่นเดิมตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2562 ถึงขณะนี้ “กฤชเทพ สิมลี” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ยังเหลือเวลาทำงานอีก 5 เดือน เพราะมีคิวเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือน ก.ย.นี้

เส้นทางของอธิบดีป้ายแดง วัย 59 กะรัต แห่งคุ้งบางบัว เกิดวันที่ 26 มิ.ย. 2502 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 90 รุ่นเดียวกับนักการเมืองชื่อดัง “เนวิน ชิดชอบ”

จบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต

ผ่านหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง อาทิ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 53, นักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 54 สถาบันดำรงราชานุภาพ กระทรวงมหาดไทย และหลักสูตรการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 9 สถาบันพระปกเกล้า

เข้ารับราชการครั้งแรกที่กรมโยธาธิการและผังเมืองในตำแหน่งวิศวกรวิชาชีพ 8 จากนั้นเติบโตตามสายงานในปี 2551 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักทางหลวงชนบทที่ 5 และผู้อำนวยการสำนักก่อสร้างสังกัด “กรมทางหลวงชนบท” กรมใหม่หลังมีการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) และกรมโยธาธิการและผังเมืองใหม่

จากนั้นปี 2553 ขึ้นรองอธิบดี ในปี 2559 เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงและรองปลัดกระทรวงในปี 2559 จนถึงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาถูกโยกสลับเก้าอี้กับ “พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน” ได้สัมผัสเก้าอี้ใหญ่ในโค้งสุดท้ายของชีวิตรับราชการ

แม้จะมีเวลา 9 เดือนในการบริหารงาน แต่ “กฤชเทพ” ได้วางแผน-จัดไทม์ไลน์งานที่จะเร่งผลักดันให้เสร็จ โดยทุกโครงการจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กจะเชื่อมโยงไปยังภูมิภาค

ภารกิจแรกจะผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้ลงสู่พื้นที่ชนบทให้มากที่สุด เพื่อความปลอดภัยในการสัญจรของประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น ปรับปรุงถนนหน้าโรงเรียน ถนนเข้าหมู่บ้าน ให้เป็นถนนสวยแห่งหมู่บ้าน

“เราจะทำทั้งประเทศ เบื้องต้นมีถนนจะปรับปรุงกว่า 3,300 เส้นทาง มีหมู่บ้านกว่า 9,000 หมู่บ้าน จะปรับปรุงเฉพาะ 2 ข้างทางของถนนทางหลวงชนบท เช่น ทาสี ตีเส้นการจราจร ทางเท้า ทางจักรยาน ป้ายบอกทาง ป้ายสินค้าโอท็อป ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ได้ออกแบบไว้มี 5 มาตรฐาน ส่วนงบประมาณที่จะดำเนินการก็แล้วแต่พื้นที่ จะใช้เงินเหลือจ่ายประจำปีมีอยู่ประมาณ 1,000 ล้านบาทมาดำเนินการ เพราะจะทำได้เร็ว”

ความคืบหน้าล่าสุด “กฤชเทพ” เล่าว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้แขวงทางหลวงชนบททั่วประเทศเลือกหมู่บ้านที่จะดำเนินการภายใน 2 เดือนนี้จะเริ่มดำเนินการ 600 หมู่บ้านกระจายไปทุกจังหวัด ใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท เพื่อให้โครงการได้เริ่มต้น โดยจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

“งบประมาณปี 2563 กรมได้เสนอคำขอไป 58,000 ล้านบาท ยังไม่ทราบสุดท้ายแล้วจะได้รับอนุมัติเท่าไหร่ จากปี 2562 ได้รับอนุมัติอยู่ที่ 47,000 ล้านบาท และในแผนงานไม่มีโครงการขนาดใหญ่ยื่นขอไป เพราะที่ผ่านมามีโครงการขนาดใหญ่ไปเยอะแล้ว ส่วนใหญ่เป็นงบฯสำหรับพัฒนาถนนตามผังเมืองรวม แก้ปัญหาจราจรในภูมิภาค”

ขณะเดียวกัน จะเร่งโครงการถนนไร้ฝุ่นซึ่งยังเหลืออยู่กว่า 700 กม. ให้แล้วเสร็จที่ปัจจุบันติดปัญหาอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนฯและเขตอุทยานฯ ซึ่งบางโครงการจะต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยจะเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการใหม่ให้ไปด้วยกันได้กับโครงการพระราชดำริ

อธิบดีกรมทางหลวงชนบทกล่าวอีกว่า อีกภารกิจที่ต้องเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ คือ การเดินหน้าโครงการไทยแลนด์ริเวียร่าฝั่งทะเลอ่าวไทย จากชุมพร-สงขลา-สุไหงโก-ลก โดยจะของบประมาณศึกษาเป็นแพ็กเกจให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งช่วงชุมพร-สงขลาการศึกษาใกล้เสร็จแล้ว มีระยะทาง 578 กม. เริ่มจาก ต.ละแม อ.ละแม จ.ชุมพร ไปจนถึง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา

“กรมเริ่มต้นโครงการไทยแลนด์ริเวียร่ามาตั้งแต่ปี 2552 จากทั้งโครงข่ายมีระยะทาง 683 กม. อยู่ฝั่งอ่าวไทย 603 กม. ฝั่งอันดามัน 80 กม. ครอบคลุมพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม 11 กม. จ.เพชรบุรี 88 กม. จ.ประจวบคีรีขันธ์ 250 กม. จ.ชุมพร 254 กม. และ จ.ระนอง 80 กม. ตามแผนจะใช้เวลาพัฒนา 16 ปี นับจากปี 2552-2568 วงเงิน 7,000 ล้านบาท”

ปัจจุบันดำเนินการเสร็จแล้ว 265.321 กม. วงเงิน 2,251.824 ล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้าง 24.397 กม. วงเงิน 407.404 ล้านบาท และได้งบฯปี 2562 วงเงิน 510 ล้านบาท ดำเนินการ 48.158 กม. มีแยก ทล.4198-เทศบาลปากน้ำหลังสวน จ.ชุมพร และสายแยก ทล.4001-บ้านโพธิ์แบะ จ.ชุมพร

เพื่อให้โครงการต่อเนื่อง เสนอของบประมาณปี 2563-2565 มาดำเนินการอีก 176.74 กม. วงเงิน 1,966.726 ล้านบาท ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ บริเวณชายหาดปากน้ำปราณ-หนองบัว-เขากะโหลก, ทุ่งมะเม่า-อุทยานวิทยาศาสตร์หว้ากอ-ถนนเพชรเกษม, ถนนเพชรเกษม-สถานีรถไฟทุ่งประดู่-วัดทับสะแก, แยก ทล.4-บ้านกรูด-บ้านกลางอ่าว, จ.ชุมพรแยก ทล.4003-บ้านท่องเกร็ง, แยก ทล.4002-บ้านแหลมสันติ, แยก ทล.41-บ้านคลองชุม, แยก ทล.41-บ้านหนองทองคำ-บ้านทุ่งคาน้อย-บ้านบางคอย และอ่างทุ่งชาง-บ้านบางจาก

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ในแผนอธิบดีกรมทางหลวงชนบทกล่าวว่า ในปี 2563 ได้ของบประมาณสำหรับเวนคืนที่ดินโครงการต่อเชื่อมสะพานนนทบุรี 1-วงแหวนรอบกาญจนาภิเษก ระยะทาง 3.829 กม. กรมมีแผนจะสร้างในปี 2564 ซึ่งโครงการนี้ได้รับอนุมัติรายงานอีไอเอ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562

ตามผลการศึกษาจะใช้เงินลงทุน 3,663 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 1,296 ล้านบาท และค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 2,367 ล้านบาท รูปแบบก่อสร้างเป็นถนนระดับดิน ขนาด 6-8 ช่องจราจร สะพานหรือทางยกระดับ ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมถนนระดับดิน ขนาด 2-3 ช่องจราจร และสะพานหรือทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงการเดินทางกรุงเทพฯกับนนทบุรีได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

ขณะที่โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ในส่วนของสนามบินน้ำมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท จะยุติโครงการหลังจากมีชาวบ้านคัดค้านจำนวนมาก

แต่สะพานเชื่อมจังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาครยังคงเดินหน้าต่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานอีไอเอ ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีแผนก่อสร้างได้เมื่อไหร่ อีกทั้งยังเป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้เงินลงทุนสูงหลายหมื่นล้านบาท