ดีลไฮสปีด EEC ชงครม. 28 พ.ค. บอร์ดรถไฟสรุปค่าโง่โฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล้าน

นาย​วร​วุฒิ มาลา รอง​ผู้​ว่าการ​รถไฟ​แห่ง​ประเทศไทย (รฟท.) และ​นาย​ณรงค์ ศิริ​เลิศ​วร​กุล ผู้​อำนวยการ​สำนักงาน​พัฒนา​วิทยาศาสตร์​และ​เทคโนโลยี​แห่งชาติ (สวทช.) ร่วม​ลง​นาม​ใน​บันทึก​ข้อ​ตกลง​เพื่อ​ร่วมมือ​กัน​ด้าน​การ​วิจัย​พัฒนา​ใน​การ​ส่งเสริม​มาตรฐาน​และ​การ​ทดสอบ​สำหรับ​ผลิตภัณฑ์​ใน​ระบบ​ราง ที่​รฟท. เมื่อ​วัน​ที่ 7 ม.ค.2562

เปิดไทม์ไลน์ปิดดีลไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ชงบอร์ดอีอีซีเคาะ 15 พ.ค. ครม.อนุมัติ 28 พ.ค. เซ็นสัญญา 15 มิ.ย.นี้ “ซี.พี.” ขอลดค่าปรับหากสร้างช้าจากวันละ 12 ล้าน อ้อนรัฐช่วยรับภาระรถไฟ ย้ำให้ได้แค่ขยายเวลา สรุปยอดค่าโง่โฮปเวลล์ 25,441 ล้าน 

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 25 เม.ย. คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ได้ประชุมหารือกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม ซี.พี.) ผู้เสนอให้รัฐอุดหนุนต่ำสุด 117,227 ล้านบาท ได้ข้อสรุปในหลัก ทั้งด้านสำคัญและปลีกย่อยทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นตรงกันหมดแล้ว เช่น อายุสัมปทาน 50 ปี สร้าง 5 ปี บริหารโครงการ 45 ปี เป็นต้น

เหลือปรับถ้อยคำยกร่างสัญญาเพื่อเสนอให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ วันที่ 10 พ.ค.ก่อนจะเสนอภาพรวมการเจรจาและข้อเท็จจริงทั้งหมดให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 15 พ.ค.และวันที่ 28 พ.ค.นี้ จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือก คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ไม่เกินวันที่ 15 มิ.ย.นี้ตามที่บอร์ดอีอีซีกำหนด ส่วนกรณี ซี.พี.ติดขัดเรื่องแหล่งเงินกู้จากประเทศจีนและญี่ปุ่น ล่าสุด ซี.พี.แจ้งว่าได้เดินทางไปหารือกับพันธมิตรที่จีนแล้ว และพันธมิตรที่จีนก็ยินยอมสนับสนุนแหล่งเงินกู้เรียบร้อย

รายงานข่าวแจ้งว่า รายละเอียดในสัญญาที่ยกร่าง เช่น หากสร้างล่าช้าจะถูกปรับวันละ 12 ล้านบาทยังไม่มีข้อยุติ เนื่องจาก ซี.พี.ขอรับลด แต่จะเสนอร่างสัญญาให้อัยการตรวจสอบก่อนจะระบุว่ามีค่าปรับ แต่วงเงินจะสรุปให้ได้ก่อนเซ็นสัญญา ยังมีการขยายเวลากรณีมีเหตุสุดวิสัย การบอกเลิกสัญญา ส่วนการส่งมอบพื้นที่ ทาง ซี.พี.ต้องการให้ส่งมอบ 100% แต่ ร.ฟ.ท.สามารถส่งมอบให้ได้ 50-60% ยุติแล้ว

ขณะที่การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.มีวาระสำคัญคือ สรุปผลคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีผลตัดสินวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้ ร.ฟ.ท.จ่ายค่าชดเชยให้ บจ.โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) 11,888 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

โดย ร.ฟ.ท.สรุปมูลหนี้รวมตามคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2551 ถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2562 คิดเป็นวงเงินรวม 25,411 ล้านบาท แยกเป็น 1.ค่าก่อสร้างรวม 16,130.96 ล้านบาท (เงินต้น 9,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 16,130.96 ล้านบาท) เริ่มนับดอกเบี้ย 30 ก.ย. 2551 วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด

2.ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 8,728 ล้านบาท (เงินต้น 2,850 ล้านบาท และดอกเบี้ยอย่างน้อย 5,878 ล้านบาท) เริ่มนับดอกเบี้ยวันที่บอกเลิกสัญญา 20 ม.ค. 2541 3.ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน 53.28 ล้านบาท (เงินต้น 38.75 ล้านบาท และดอกเบี้ย 14.53 ล้านบาท) 4.หนังสือค้ำประกัน 500 ล้านบาท และ 5.ค่าธรรมเนียมศาลอุทธรณ์ 16.53 ล้านบาท

นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า เป็นการรายงานผลของคดีทั้งหมด และหาแนวทางการชำระมูลหนี้ทั้งหมดให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ มีหลายแนวทาง เช่น การเสนอ ครม.ตั้งคณะกรรมการเจรจา กรณีเดียวกับคดีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต แข่งขันกับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) หรือการขออนุมัติงบประมาณสำหรับชำระหนี้ทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เพราะศาลให้จ่ายภายใน 180 วัน

โดยกระทรวงคมนาคมเตรียมรายงาน ครม.รับทราบ 30 เม.ย.นี้