รถไฟจ๋อยมิกซ์ยูสบางซื่อไม่คึก “เซ็นทรัล”ชูโรงวัดกำลังเครือช.การช่าง

ขายซองประมูลโปรเจ็กต์มิกซ์ยูสสถานีกลางบางซื่อ แปลง A 32 ไร่ มูลค่า 1.1 หมื่นล้าน สนใจแค่ 4 ราย “เซ็นทรัล” นอนมา “ช.การช่าง-BEM” รอดูพันธมิตร จ่อผนึกอสังหาฯเครือ ซี.พี.ต่อยอดไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ร.ฟ.ท.ดีเดย์ยื่นข้อเสนอ 30 ก.ค. คาดเซ็นสัญญาปลายปี ตอกเข็มปีหน้า เร่งเปิดศูนย์การค้ารับรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิตปี’64

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ผลเปิดขายซองประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ แปลง A วันที่ 9 เม.ย.-7 พ.ค.ที่ผ่านมา มีเอกชนสนใจซื้อทีโออาร์เพียง 4 ราย คือ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) อีกรายเป็นรัฐวิสาหกิจจากประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ

“แม้เอกชนสนใจน้อย เราก็ยังเดินหน้าต่อ โดยเปิดให้ยื่นข้อเสนอ 4 ซอง วันที่ 30 ก.ค.นี้ มีซองคุณสมบัติ ซองข้อเสนอเทคนิคและแผนลงทุน ซองข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนแก่ ร.ฟ.ท. และซองข้อเสนอเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ เอกชนสามารถยื่นประมูลทั้งนิติบุคคลหรือกิจการร่วมค้าก็ได้ แต่คนที่เป็นแกนนำต้องซื้อเอกสารเท่านั้น ส่วนต่างชาติจะร่วมได้ไม่เกิน 49% คาดเซ็นสัญญาปีนี้ เริ่มสร้างปีหน้า เปิดบริการส่วนแรกเป็นพื้นที่รีเทลปี 2564 รองรับเปิดสถานีบางซื่อของสายสีแดง จะเปิดทั้งโครงการปี 2566”

ที่ดินแปลง A มีเนื้อที่ 32 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินย่านพหลโยธิน 2,325 ไร่ ที่แบ่งพัฒนาเป็น 9 แปลง จากการศึกษาขององค์กรเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) พบว่า แปลง A เป็นพื้นที่มีศักยภาพและคุ้มค่าการลงทุน จึงนำร่องเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุน PPP เป็นแปลงแรก เนื่องจากอยู่ใกล้กับสถานีกลางบางซื่อ 500 เมตร อยู่ในรัศมีระยะเดินเท้าและเข้ากับคอนเซ็ปต์จะพัฒนาเป็นTOD (Transit-Oriented Development) เหมือนที่ต่างประเทศ

โดยพัฒนาเป็นมิกซ์ยูส มีร้านค้า โรงแรม สำนักงาน พื้นที่อาคารรวมไม่น้อยกว่า 317,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการ 11,721 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 34 ปี แยกเป็นก่อสร้าง 3 ปี จัดหาประโยชน์ 30 ปี เพื่อรองรับผู้โดยสารและผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า เพราะบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางใหญ่สุดในประเทศและอาเซียน มีทั้งรถไฟฟ้า ไฮสปีด รถไฟชานเมือง รถไฟระยะกลางและระยะไกล

“เอกชนสนใจน้อยราย อาจจะเป็นเพราะถูกจำกัดเรื่องความสูงสร้างได้ไม่เกิน 150 เมตร หรือไม่เกิน 50 ชั้น เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ควบคุมการบิน และที่ดินยังมีเส้นทางรถไฟผ่ากลาง อาจจะทำให้การพัฒนาลำบาก จะมีชี้แจงเงื่อนไขทีโออาร์ให้เอกชนรับทราบ 2 ครั้ง วันที่ 8 พ.ค. และวันที่ 25 มิ.ย.นี้” นายวรวุฒิกล่าว

แหล่งข่าวจาก บมจ.เซ็นทรัลพัฒนาเปิดเผยว่า จะยื่นประมูล เนื่องจากเป็นทำเลที่มีศักยภาพใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า และในย่านดังกล่าวยังไม่มีศูนย์การค้า และกลุ่มลูกค้าจะเป็นคนละกลุ่มกับเซ็นทรัลลาดพร้าว

แหล่งข่าวจาก บมจ.ช.การช่างกล่าวว่า ทั้ง ช.การช่างและ BEM บริษัทในเครือ มีความสนใจโครงการนี้ แต่ต้องหาพันธมิตรมีประสบการณ์ด้านพัฒนาที่ดินมาร่วมด้วย ซึ่งทางผู้บริหารยังไม่ตัดสินใจ แต่ให้ซื้อทีโออาร์มาศึกษาไว้ก่อน เพราะมีเรื่องของการก่อสร้างด้วย หากเข้าร่วมก็อาจจะร่วมกับบริษัทอสังหาฯในกลุ่ม ซี.พี. เหมือนกับที่ร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการ เนื่องจากในสัมปทานรถไฟความเร็วสูงให้สิทธิเฉพาะพื้นที่ขายตั๋วโดยสารเท่านั้น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!