สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ วางหมาก ช.การช่าง ผนึก พันธมิตร สู้ศึกประมูลใน-ต่างประเทศ

สัมภาษณ์พิเศษ

เข้าปีที่ 4 แล้วที่ “สุภามาส ตรีวิศวเวทย์” ขึ้นกุมบังเหียน “บมจ.ช.การช่าง” อาณาจักรรับเหมาเบอร์ 2 ของประเทศต่อจาก “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ผู้เป็นพ่อในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่

แม้ปีนี้เศรษฐกิจของประเทศจะซบเซาลงจากสารพัดปัจจัยที่รุมเร้า แต่ “ช.การช่าง” ยังคงอัตราการเติบโตของรายได้ในระดับเดียวกันตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา

กำไรสุทธิเพิ่ม 30%

“สุภามาส” ฉายภาพผลดำเนินงานปี 2561 มีรายได้รวม 31,176 ล้านบาท ลดลง 18% จากปี 2560 มีรายได้รวม 37,730 ล้านบาท เนื่องจากงานในมือเข้าสู่ช่วงปลายของโครงการ เช่น เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไชยะบุรีที่ สปป.ลาว มูลค่า 94,622 ล้านบาท ทำให้ backlog ลดลง

ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 2,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปี 2560 มีกำไรสุทธิ 1,811 ล้านบาท เป็นผลมาจากการลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารและการเงิน รวมถึงมีส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

“ถือว่าปีที่ผ่านมา รายได้และกำไรอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ เรามองว่ารายได้ 25,000-30,000 ล้านบาท เป็นรายได้รวมที่เหมาะสม เพราะบริหารและรักษาฐานรายได้ไม่ยากนัก ส่วนกำไรอาจจะสะวิงบ้าง แต่บริษัทลูกมีความเข้มแข็งและเติบโตมากขึ้น ทำให้ ช.การช่างมีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย และในปีนี้เรามีอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัท หรือ gross profit 7.92% เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 8%” สุภามาสกล่าวและว่า

รอรับรู้รายได้ 4.8 หมื่นล้าน

ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ปรับอันดับเครดิตจาก “A-Stable” ที่ ช.การช่างได้มา 4 ปี เป็น “A Stable” ถือเป็นบริษัทก่อสร้างรายเดียวของไทยที่ได้รับการปรับเครดิตมาอยู่ในอันดับนี้

ส่วนมูลค่ารอรับรู้รายได้ (backlog) ปีนี้ 48,965 ล้านบาท จากมูลค่ารวม 233,714 ล้านบาท จะสร้างรายได้ให้บริษัท 1.5-2 ปี แบ่งตามประเภทงาน โดยงานระบบขนส่งมวลชน 72% รถไฟทางคู่ 17% ถนนและทางด่วน 5% พลังงาน 4% และ อื่น ๆ 2%

ปี 2562 ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 25,000-30,000 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิยังคงระดับ 2,000 ล้านบาท ใกล้เคียงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป้ารายได้ตั้งตามยอด backlog ในมือ ยังไม่รวมโครงการใหม่ ๆ และเป็นยอดรายได้ที่มองว่ายั่งยืนและไม่หวือหวามากนัก

ส่งมอบ 3 บิ๊กโปรเจ็กต์ปีนี้

ในปีนี้มี 3 โครงการในมือจะเสร็จพร้อมส่งมอบ ได้แก่ 1.รถไฟทางคู่ จิระ-ขอนแก่น 23,430 ล้านบาท 2.รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และเตาปูน-ท่าพระ จะเปิดใช้ช่วงหัวลำโพง-หลักสองได้ก่อนก.ย.นี้ ช่วงเตาปูน-ท่าพระจะเปิดมี.ค. 2563 และ 3.โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำไชยะบุรีที่สปป.ลาว จะส่งมอบได้ พ.ค.นี้ เริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ไตรมาส 4 ปีนี้

รอผลไฮสปีด-อู่ตะเภา-ทางด่วน

“สุภามาส” ยังอัพเดตโครงการ รอผลประมูล มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท ร่วมกับซี.พี.อยู่ระหว่างตรวจร่างสัญญาคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี และเซ็นสัญญาไม่เกิน 15 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะสรุปการแบ่งงานกับ ซี.พี.

“ยังซื้อซองประมูลพัฒนาที่ดินแปลง A ติดสถานีกลางบางซื่อมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบโครงการ ยังไม่ตัดสินใจจะยื่นประมูลหรือไม่”

ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 290,000 ล้านบาท เราเข้าไปร่วมกับกลุ่ม ซี.พี.ในนามกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรที่เข้าไปร่วมเนื่องจากโครงการมีมูลค่าก่อสร้าง 80,000-90,000 ล้านบาท ประกอบกับเคยมีประสบการณ์ในการก่อสร้างสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

ด้านการเจรจาข้อพิพาทกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยยื่นเสนอขยายอายุสัญญาสัมปทานทางด่วนที่ BEM บริษัทลูกรับสัมปทานอยู่ ออกไป 37 ปี เพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด รอคณะกรรมการ(บอร์ด) กทพ.เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

พร้อมสู้ศึกประมูลเมกะโปรเจ็กต์

ขณะที่การประมูลโครงการใหม่ “บิ๊ก ช.การช่าง” ประเมินว่า แม้บรรยากาศโดยรวมจะไม่เอื้อกับการลงทุน แต่เชื่อว่าการลงทุนของรัฐบาลผ่านโปรเจ็กต์ใหญ่ จะทยอยออกมาต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทเพิ่งยื่นซองประมูลทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก 4 สัญญา วงเงิน 29,154 ล้านบาท

และเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งว่าบริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลในโครงการก่อสร้างศูนย์บูรณาการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จำนวน 1 อาคาร ราคากลาง 2,300 ล้านบาท

“ไม่มีความกังวลเพราะเชื่อว่างานประมูลของรัฐจะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง โครงการไหนจำเป็นต้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ทางรัฐบาลเคยชี้แจงว่า ยังเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มสามารถอนุมัติโครงการได้อยู่ ส่วนโครงการที่อยู่ในกระบวนการแล้วยังเดินหน้าไปได้ต่อเนื่อง ความเสี่ยงที่โครงการล่าช้าออกไปก็ไม่น่าจะมากแล้ว อีกทั้งแหล่งเงินทุนหลายแห่งก็มีความเชื่อมั่นว่าโครงการที่รออยู่จะมีการประมูล และต่างก็ทยอยเข้ามาหาบริษัทเพื่อพูดคุยบ้างแล้ว เพราะเขามีความเชื่อมั่นในบริษัทของเรา” สุภามาสกล่าวด้วยความมั่นใจ

พร้อมประกาศจะพา ช.การช่างและบริษัทในเครือเข้าประมูลงานที่คาดว่าจะประมูลในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 16.4 กม. เงินลงทุน 142,600 ล้านบาท ซึ่ง ช.การช่างมีความพร้อมจะเข้าประมูลทั้ง 2 โครงการแน่นอน รวมถึงรถไฟทางคู่เฟส 2 อีก 1,851 กม. เงินลงทุน 354,091 ล้านบาทที่รอการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีด้วย

หาพาร์ตเนอร์เจาะงานใหญ่

แม้ว่างานประมูลจะมีมาก “สุภามาส” ประเมินว่าภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจก่อสร้างค่อนข้างดุเดือด เพราะนอกจากบริษัทไทยแล้วยังมีบริษัทจากต่างประเทศก็สนใจเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน เช่น จีน เกาหลีใต้ เป็นต้น ทั้งมาในรูปแบบร่วมทุนและเป็นคู่แข่งโดยตรง แต่เมื่อการแข่งขันสูงประชาชนก็จะยิ่งได้รับประโยชน์ และบริษัทไม่เคยกลัวการแข่งขัน เพราะวางกลยุทธ์ต่าง ๆ และพัฒนาองค์กรไว้พร้อมแล้ว

“หลักการเลือกโครงการของ ช.การช่าง คือ จะไม่เข้าไปในโครงการที่มีการดัมพ์ราคากันสูง จะเลือกโครงการที่ใหญ่นิดหนึ่ง ใช้ know-how สูงหน่อย เพราะอัตราแข่งขันน้อยกว่า บางโครงการก็หาพาร์ตเนอร์บ้างก็ได้ เพื่อช่วยกันทำให้งานลุล่วงง่ายขึ้น”

ลุยประมูลงาน ตปท.เพิ่มรายได้

“สุภามาส” กล่าวอีกว่า ช.การช่างมีแผนบุกตลาดต่างประเทศ ขณะนี้มีโครงการที่สนใจอยู่ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำโครงการใหม่ของ สปป.ลาว จะใช้ บมจ.ซีเค พาวเวอร์เข้าไปลงทุน อยู่ระหว่างรอรัฐบาลประเทศลาวเปิดเผยรายละเอียด

โครงการทางด่วนเชื่อมสนามบินและเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา มี ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ร่วมกันลงทุน มูลค่าโครงการประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ระหว่างรอกระบวนการประมูล และโครงการวางระบบน้ำประปาที่ประเทศศรีลังกา มี บมจ.ทีทีดับบลิวเป็นผู้ลงทุน อยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้และผลตอบแทนทางธุรกิจ