“อาคม” ส่องเทรนด์โลจิสติกส์ไทยเชื่อมตลาด CLMV ทะลุจีนตอนใต้ 6 ประเทศ

กรมการขนส่งทางบก ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาศักยภาพและโอกาสการขนส่งไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เพื่อการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ของ 6 ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนา “ศักยภาพและโอกาสการขนส่งไทยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)” ว่า โอกาสผู้ประกอบการขนส่งไทยมีสูงมากภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าทางถนนรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) รวมทั้งจีนตอนใต้รวม 6 ประเทศ

ครอบคลุมทั้งในส่วนของการขนส่งข้ามแดน (Inter-State) และการขนส่งผ่านแดน (Transit) ตามกรอบความตกลงที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันรวมถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ซึ่งมีจุดผ่านแดนสำคัญ 5 จุด ได้แก่ 1.ด่านแม่สอด-เมียวดี 2.ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ระหว่างไทยกับเมียนมา 3.ด่านเชียงของ-ห้วยทราย 4.ด่านนครพนม-ท่าแขก ระหว่างไทยกับลาว และ 5.ด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต ระหว่างไทยกับกัมพูชา

โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางตามระเบียงเศรษฐกิจ อาทิแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC) เชื่อมโยงระหว่างไทย พม่า/สปป.ลาว และจีน ผ่านถนน R3A 1,800 กิโลเมตร มีด่านเชียงของ-หลวงน้ำทา-ม่อหาน-คุนหมิง

แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) เชื่อมโยงระหว่างเวียดนาม สปป.ลาว ไทย และพม่า 940 กิโลเมตร มีด่านค้าชายแดนสำคัญคือด่านปอยเปต-อรัญประเทศ

แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) เชื่อมโยงระหว่าง ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ผ่านเส้นทาง R 12 ระยะทาง 50 กิโลเมตร เส้นทางกรุงเทพฯ-ปรัญประเทศ-ปอยเปต-โฮจิมินห์ ขนส่งผลไม้สดและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

รวมถึงแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศ ทั้งที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย และศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม

“ช่วง 4-5 ปีที่เป็นรมช.และรมว.คมนาคม และจริงๆ แล้วตั้งแต่สมัยอยู่สภาพัฒน์ได้ทำงานด้านโลจิสติกส์อนุภาคลุ่มน้ำโขง มีหลายเรื่องที่ตกลงกันได้แล้ว เช่น มีการลงนามที่เสียมเรียบในเรื่อง early harvest จากปี 2562 เป็นปี 2564 มีข้อตกลงการขนส่งทางถนนโดยเฉพาะสินค้าข้ามแดนนมีรถข้ามแดนได้ 400-500 คัน เราได้มาคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งไทยเรียบร้อยแล้ว”

ในฝั่งเมียนมา มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีเมียนมา ซึ่งขอทำข้อตกลงพหุภาคีก่อน ซึ่งการทำ early harvest ช้ากว่าใน 5 ประเทศในกลุ่ม GMS โดยรถขนส่งสินค้าไทยสามารถข้ามแดนเข้าสู่เมียนมาได้

อีกเรื่องที่มีการตกลงคือ CCA-common control area หรือการตรวจปล่อย ณ จุดเดียว โดยกรณีไทย-ลาว ตกลงกันว่าตรวจในฝั่งสปป.ลาวครั้งเดียว

พัฒนาการสำคัญยังรวมถึงด่านการค้าชายแดนทั้งหลายซึ่งเป็นจุดขนส่งข้ามแดน มีพัฒนาการก้าวหน้า อาทิ ปัญหาคอขวดที่แก้ไขเกือบหมดแล้ว ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันออก โดยสะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 เสร็จเรียบร้อย เพราะสะพานแห่งแรกหนาแน่น ไม่สามารถรองรับรถขนส่งและรถยนต์ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยเป็นถนนตัดใหม่จากถนนทางหลวงไทย ปัจจุบันเหลือติดตั้งอุปกรณ์ผ่านแดนทั้งฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา

จุดนี้ มีการพูดถึงทะลุการเชื่อมขนส่งผ่านแดนไปถึงตลาดประเทศอินเดียด้วย

เรื่องที่ 2 ปัญหาคอขวดสำคัญคือ ด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต สะพานข้ามคลอง แล้วเสร็จเรียบร้อย, ทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เชื่อมโยงระบบรางกับระบบทางถนน ทำให้ต้นทุนการขนส่งทางถนถูกลง สินค้าจากจีนมาเปลี่ยนถ่ายที่เชียงของได้

กับทรักเทอร์มินอลที่นครพนม ตรงข้ามกับแขวงคำม่วนของ สปป.ลาว มีปริมาณสินค้ามากขึ้นทุกวัน กระทรวงคมนาคมเสนอครม.และได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างทรักเทอร์มินอล ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาผู้รับเหมา และมีการสร้างทางรถไฟทางคู่เด่นชัย-มุกดาหาร-นครพนม เพื่อให้มีสถานีร่วมในการเปลี่ยนถ่าน่ยสินค้าออกทางท่าเรือแหลมฉบังได้

ในอนาคตจะต่อเชื่อมการขนส่งจากรถไฟของเวียดนาม ผ่านลาวและไทย ในขณะที่การขนส่งทางรถบรรทุกยังมีความจำเป็นในระบบ door to door

จุดที่ 3 อยู่ที่หนองคาย กระทรวงเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้าง CY-container yard ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งการประชุม OBOR-one belt one road โดยไทยได้ลงนามก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่คู่ขนานกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่เข้าสู่นครเวียงจันทน์ รองรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกับรถไฟทางคู่

“รถไฟความเร็วสูงเมื่อข้ามแดนเข้ามาจะไม่ได้ขนส่งสินค้า แต่ถ่ายสินค้ามาใช้ราง 1 เมตรในประเทศไทย เพราะความเร็วในการขนส่งสินค้าไม่จำเป็นต้องเร็วเท่ากับรถโดยสาร”

นอกจากนี้ ไฮไลต์การสัมมนามีการนำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าทางถนนรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดย รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยได้ทราบถึงสถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่ม GMS รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยจะนำข้อมูลที่ได้จากการสัมมนไปพัฒนาเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป