คมนาคมจัดชุดใหญ่มาตรการรับมือรถติด “กทม.-ต่างจังหวัด” เปิดภาคเรียน 13-24 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางช่วงเปิดภาคเรียน 2562 โดยมี นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงฯ หัวหน้าหน่วยงานและผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม

โดยได้หารือถึงแนวทางปฏิบัติเพื่ออำนวยความสะดวก ความปลอดภัยในการเดินทางรูปแบบต่าง ๆ และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเปิดภาคเรียน 2562 พร้อมกำหนดมาตรการรองรับการเดินทางช่วงเปิดภาคเรียน 2562 ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม – 24 พฤษภาคม 2562 ดำเนินงานแบ่งตามพื้นที่

1. พื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ส่งผู้ตรวจการลงพื้นที่ร่วมกับตำรวจจราจร เพื่อกำกับดูแลความเรียบร้อย ความปลอดภัยบริเวณหน้าโรงเรียนและจุดเชื่อมต่อการเดินทาง รวมทั้งกำกับดูแลรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์รับจ้างไม่ให้เอาเปรียบผู้โดยสาร

โดยเฉพาะเส้นทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นที่ 1 ถนนสามเสน ราชวิถี นครราชสีมา เส้นที่ ๒ ถนนอโศก เพลินจิต สุขุมวิท และเส้นที่ 3 ถนนสีสม สาทร เจริญกรุง รวมถึงบริเวณที่มีผู้โดยสารและการจราจรหนาแน่น เช่น ถนนบางนา ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สะพานกรุงธน ถนนพระราม 6 หน้าโรงเรียนสามเสน และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต เป็นต้น

ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพิ่มปริมาณรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 หรือประมาณ 22,200 เที่ยวต่อวัน ในเส้นทางที่ผ่านสถานศึกษา พร้อมจัดผู้ตรวจการกำกับดูแลการให้บริการและความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ ขสมก. และรถร่วมบริการ เช่น ต้องจอดรับผู้โดยสารอย่างเป็นระเบียบ ไม่กีดขวางการจราจร และดูแลความปลอดภัยของนักเรียนขณะขึ้น – ลงรถ

ส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ให้ดูแลความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกในเส้นทางและสถานีที่ผ่านสถานศึกษา

พร้อมกับให้ รฟม. และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งคืนพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่จำเป็นให้กับการจราจรโดยเร็ว รวมถึงให้ รฟม. รฟท. และผู้รับจ้างร่วมกันแก้ไขปัญหาในกรณีเกิดเหตุทำให้การจราจรติดขัดเป็นเวลานาน โดยกำชับทั้งสองหน่วยงานพิจารณาแนวทางการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน ไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ในความรับผิดชอบ

ด้านกรมเจ้าท่า (จท.) กำกับดูแลความแออัดและความปลอดภัยบริเวณท่าเรือข้ามฟากและเรือด่วน ในบริเวณที่เด็กนักเรียนโดยสารทางเรือเพื่อเชื่อมต่อกับรถโดยสารประจำทาง ขณะนี้ ได้ประสานผู้ประกอบการเรือโดยสารเพิ่มเที่ยวเรืออีกวันละ 1 – 2 เที่ยว ในจุดที่มีเด็กนักเรียนใช้บริการจำนวนมาก รวมทั้งกำชับพนักงานประจำท่าเรือดูแลความปลอดภัยเป็นพิเศษ

สำหรับกรมทางหลวง (ทล.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมกับตำรวจทางหลวง กำกับการจราจรบนทางพิเศษและทางพิเศษระหว่างเมืองในเส้นทางหลักเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยจัดเจ้าหน้าที่ดูแลการจราจรบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางไม่ให้มีการจราจรแออัด

และให้บริษัท ขนส่ง จำกัด รฟท. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน และกรมท่าอากาศยาน อำนวยความสะดวกแก่นักเรียนที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยแนะนำเส้นทางในกรณีที่เข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก

ในส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดให้สำนักงานขนส่งจังหวัดเข้มงวดรถโรงเรียนและรถรับจ้างเอกชนทุกประเภทต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง กฎจราจรอย่างเข้มงวด โดยห้ามบรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ตัวรถมีความพร้อมและมีอุปกรณ์ความปลอดภัยประจำรถ ต้องไม่มีนักเรียนโหนหรือขึ้นไปหลังคารถอย่างเด็ดขาด

ให้ ทล. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และสำนักงานขนส่งจังหวัด ร่วมกับตำรวจท้องที่และครูอำนวยความสะดวกและปลอดภัยหน้าโรงเรียน บนถนนในความรับผิดชอบของ ทล. และ ทช. เน้นโรงเรียนขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีการจราจรหน้าโรงเรียนหนาแน่น

โดยให้หมวดการทางเป็นผู้เลือกโรงเรียนที่จะเข้าปฏิบัติงานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ในช่วงเช้า เวลา 07.00 น. – 08.00 น. และช่วงเย็น เวลา 15.00 – 16.00 น.

สั่งการให้ ทล. และ ทช. ปรับปรุงอุปกรณ์ความปลอดภัยหน้าโรงเรียนให้แล้วเสร็จ เช่น ทางม้าลาย ไฟสัญญาณจราจร ป้านเตือนเขตโรงเรียน ทางเดินทาง และสะพานลอยคนข้าม โดยกำหนดให้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างน้อยจังหวัดละ 5 โรงเรียน เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียน รวมทั้งในอนาคตจะพิจารณาติดตั้งเสียงสัญญาณเตือนควบคู่กับทางม้าลายและสัญญาณไฟจราจร