รอศาลปกครองชี้ชะตาอู่ตะเภา ยื้อเซ็นสัญญาไฮสปีด CP ส่อไม่ทัน 15 มิ.ย.

แฟ้มภาพ

กลุ่ม ซี.พี.รอลุ้นศาลปกครองชี้ชะตาประมูลเมืองการบินอู่ตะเภา มูลค่า 2.9 แสนล้าน ยื้อเซ็นสัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ส่อไม่ทัน 15 มิ.ย. ขอแก้ไขสัญญาได้ ร.ฟ.ท.รายงานบอร์ดอีอีซีตามข้อเท็จจริง 13 พ.ค.นี้ กองทัพเรือให้ 3 รายชิงดำอู่ตะเภา ส่งเอกสารยืนยันคุณสมบัติเพิ่มเติม ก่อนประกาศผลปลาย พ.ค.นี้

รายงานข่าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังกองทัพเรือไม่รับพิจารณาซองข้อเสนอของกลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.ธนโฮลดิ้ง (เครือ ซี.พี.) บจ.Orient Success International Limited บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง และ บจ.บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง ซึ่งยื่นข้อเสนอหลังเวลา 15.00 น. ในการประมูลสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท และกลุ่ม ซี.พี.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอความเป็นธรรม ยังไม่รู้ว่าศาลจะรับพิจารณาหรือไม่รับ ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ร่วมกับกลุ่ม ซี.พี. วันที่ 9 พ.ค.มีท่าทีเปลี่ยนไป ไม่ยอมรับร่างสัญญาที่อัยการสูงสุดตรวจ ซึ่งมีปรับแก้ 50 ข้อ เช่น สัดส่วนถือหุ้นในบริษัทลูก (OPCO) บริหารโครงการ ซึ่ง ซี.พี.ขอถือ 51% แต่อัยการสูงสุดให้ไม่เกิน 49% เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผ่องถ่ายไปยังช่องทางอื่น, การส่งมอบพื้นที่ที่ขอให้ระบุให้ชัดเจน, การขยายเวลาก่อสร้าง, ค่าปรับกรณีสร้างล่าช้า ซึ่ง ซี.พี.ขอลดจากวันละ 12 ล้านบาท เหลือวันละ 3-5 ล้านบาท, ขอแก้ไขสัญญาได้ระหว่างก่อสร้าง, การคิดอัตราดอกเบี้ย 2.85% หากรัฐจ่ายเงินช้า เป็นต้น

“คณะกรรมการคัดเลือกประชุมตั้งแต่เวลา 09.00-24.00น. รอให้ ซี.พี.ทำหนังสือยืนยันกลับมา”

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ซี.พี.ยังมีประเด็นไม่เห็นด้วยกับร่างสัญญาที่อัยการสูงสุดปรับแก้ทั้งสัญญา ซึ่งตนมองว่าเป็นประเด็นที่เสียเวลาจะอธิบาย จึงให้ ซี.พี.หารือกับที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ถ้ามีข้อสรุปก็ให้ทำหนังสือตอบยืนยันกลับมาว่ายอมรับร่างสัญญาดังกล่าวหรือไม่

“คณะกรรมการคัดเลือกจะไม่สนใจว่า ซี.พี.มีท่าทีตอบรับหรือปฏิเสธ จะเสนอผลเจรจาให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือบอร์ดอีอีซี รับทราบในวันที่ 13 พ.ค.ถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่ว่าการเจรจาจะสำเร็จหรือไม่ ส่วนการลงนามสัญญาจะทันวันที่ 15 มิ.ย. ขึ้นอยู่กับ ซี.พี.”

พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า ได้พิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไปให้เอกชนทั้ง 3 ราย ส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมใน 15 วัน จะประกาศผลปลายเดือน พ.ค.นี้


รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการคัดเลือกให้กลุ่ม ซี.พี.ยื่นเอกสารที่ไม่เป็นนัยสำคัญ ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS (การบินกรุงเทพ-บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ ยืนยันการเสนอนาริตะเป็นผู้บริหารสนามบิน ด้านกลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตี้ยม ให้ยืนยัน บจ.GMR จากประเทศอินเดีย มีประสบการณ์บริหารสนามบิน 15 ปี ตามทีโออาร์กำหนด