“ศุภชัย เจียรวนนท์” ย้ำจุดยืนเครือซีพี ลุยไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน มุ่งประโยชน์ประเทศ-ประชาชน

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สถาบันพัฒนาผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ จ.นครราชสีมา มีการประชุมสัมมนาเครือเจริญโภคภัณฑ์(เครือซีพี) มีผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ จากทั่วโลกกว่า 400 คนเข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวบรรยายถึงการขับเคลื่อนทางธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวตอนหนึ่งถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่า เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง และได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ไม่สูง แต่เหตุผลสำคัญที่เครือซีพีสนใจเข้าลงทุน เนื่องจากเป็นโครงการพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และสังคม ที่เครือซีพียึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ

“ถึงแม้จะยาก มีความเสี่ยงสูง แต่เครือซีพีต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ และดึงคนเก่งๆ จากทั่วโลกมาช่วยกันทำให้สำเร็จ เพราะโครงการนี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกของภูมิภาคอาเซียน และเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หรือฮับ ของอาเซียน และสามารถส่งเสริมประเทศเพื่อนบ้านในแถบซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม) ให้เติบโตไปพร้อม ๆ กันแบบยั่งยืนได้อีกด้วย” นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัยกล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นหัวใจสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเมือง จะกระจายความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม สู่ทุกชุมชน คนไทยทั้งประเทศจะได้ประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ และการนำความรู้มาพัฒนาคน สร้างงานในยุค 4.0 ซึ่งการถ่ายทอดองค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการ

นายศุภชัยกล่าวว่า นอกจากนี้การเข้าถึงบริการของผู้เปราะบาง เช่น ผู้พิการ ต้องคิดถึงเป็นอันดับแรก รวมถึงการออกแบบที่คำนึงถึงอนาคตหากเกิดชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อความเจริญขยายตัวออกจากกรุงเทพฯ ว่าจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพื่อดำเนินการด้านสังคมไปควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ประเด็นสำคัญของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ การพัฒนา ซึ่งมีความหมายมากกว่าการลงทุน เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน

“ต้องขอขอบคุณทีมงานที่ทุ่มเทเตรียมการเข้าประมูลอย่างหนัก และความสำเร็จในการดึงพันธมิตรจากทั่วโลก มาลงทุนในประเทศไทย เพื่อเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างประเทศในพื้นที่อีอีซี ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน ยุโรป และอีกหลายประเทศ” นายศุภชัยกล่าว

นายศุภชัยยังกล่าวว่า นอกจากนี้ความสำคัญของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินคู่กันไป ทั้งเรื่องพลังงานทางเลือก การจัดการขยะพลาสติก ทั้งนี้ เครือซีพี ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อการชดเชยคาร์บอนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ลดลงทุกปี และเข้าสู่ศูนย์ (zero net carbon emissions) ในปี 2030

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์