“ท่าเรือ-แหลมฉบัง” โต้ยิบ NCP ซัดตกรอบเพราะพลาดเองเซ็นเอกสาร-ยื่นซองไม่ครบ รออีอีซีเคาะอุทธรณ์

เมื่อเวลา 11.30 น. เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมด้วยเรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมกันแถลงชี้แจงความคืบหน้าโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ระยะที่ 1 ท่าเทียบเรือ F เงินลงทุน 84,361 ล้านบาท

โดยเรือโทกมลศักดิ์กล่าวว่า หลังจากที่การเปิดยื่นซองครั้งแรกเมื่อเดือน ม.ค. มีเอกชนยื่นซองเพียงรายเดียว คือบริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด (Associate Infinity) แต่ไม่ได้ยื่นหลักประกันซองมาด้วย ทำให้การประมูลครั้งแรกต้องล้มเลิกไป โดยมีการทำประชาพิจารณ์รอบใหม่ ซึ่งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขใหม่จนกำหนดยื่นซองเอกสารเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา มีเอกชน 2 กลุ่มเข้ายื่นประมูล ได้แก่

กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (สมาชิกประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ.พีทีที แทงค์เทอร์มินัล และ China Harbour Engineering Company Limited) และกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP (สมาชิกประกอบด้วย บมจ.นทลิน จำกัด บริษัท พริมา มารีน, บจ.แอสโซซิเอท อินฟินิตี้, บจ.พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง และบจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น คอร์ปอเรชั่น)

คณะกรรมการคัดเลือกได้เปิดพิจารณาซองที่ 1 (ไม่ปิดผนึก เอกสารหลักฐานการยื่นข้อเสนอ) ภายหลังปิดยื่นซองในเวลา 15.00 น.ทันที ซึ่งทั้งสองกลุ่มผ่านการคัดเลือกในซองนี้ และดำเนินการเปิดพิจารณาซองที่ 2 (คุณสมบัติของผู้ยื่น) ต่อทันที และเปิดซองต่อหน้าเอกชนทั้ง 2 กลุ่มด้วย

@NCP ตกเพราะยื่นเอกสารไม่ครบ-ไม่ลงชื่อผู้มีอำนาจ

เมื่อพิจารณาแล้วมีมติว่า ให้กลุ่ม GPC ผ่านการพิจารณา และให้กลุ่ม NCP ไมผ่านการประเมิน เนื่องจากพบว่าเอกสารข้อเสนอการประเมินไม่เป็นไปตามที่ประกาศ RFP กำหนดคือ ไม่ครบถ้วน อีกทั้งเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่แสดงคุณสมบัติของผู้ยื่น และไม่มีลายเซ็นลงนามของผู้มีอำนาจในเอกสาร JV เลย ทำให้ต้องตัดสินให้กลุ่ม NCP ไม่ผ่านการพิจารณา

“ใน RFP กำหนดให้นิติบุุคคลที่ไม่จดทะเบียนใหม่ ผู้มีอำนาจต้องลงนามและประทับตราทุกหน้าในเอกสารข้อเสนอ เพื่อยืนยันว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้อง และเอกสารดังกล่าวเป็นการแสดงว่าสมาชิกของกิจการร่วมค้าจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในฐานะลูกหนี้ร่วม ซึ่งเราพบว่ากลุ่ม NCP ไม่ได้ดำเนินการตามขัั้นตอนดังกล่าวจึงให้ไม่ผ่านซองที่ 2”

ส่วนที่มีข่าวลือว่า กลุ่ม NCP เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงกว่ากลุ่ม GPC นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการเสนอผลตอบแทนให้รัฐจะอยู่ในข้อเสนอซองที่ 4 (ผลประโยชน์ตอบแทน) ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกจะเปิดซอง 4 มาพิจารณาได้ก็ต่อเมื่อเอกชนรายนั้นผ่านการพิจารณาซอง 1-3 ก่อน แต่กลุ่ม NCP ไม่ผ่านซองที่ 2 จึงไม่มีโอกาสเปิดข้อเสนอซองที่ 4 ของกลุ่ม NCP ได้ และการพิจารณาเปิดซองใดๆ ก็ตาม จะมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีกล้องวงจรปิดจับตาตลอด ทุกขั้นตอนของการเปิดตู้เซฟเพื่อเอาซองนำพิจารณาต้องมีผู้เกี่ยวข้องมาเป็นพยานตรวจสอบว่า เอกสารอยู่ในสภาพเรียบร้อย

@ปัดข้ามขั้นตอน

เรือโทกมลศักดิ์ชี้แจงต่อว่า กรณีที่กลุ่ม NCP ให้สัมภาษณ์สื่อบางฉบับ กล่าวหาคณะกรรมการคัดเลือกข้ามขั้นตอนการพิจารณา โดยอ้างว่าได้ทำเรื่องการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 2539 มาตรา 44 แล้วนั้น

คระกรรมการคัดเลือกมีมติรับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้มีมติเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ให้ยืนตามมติคณะกรรมการคัดเลือกเดิม เมื่อมีมติแล้วก็ได้ส่งรายงานมตินี้ไปที่บอร์ดอีอีซีรับทราบ โดยบอร์ดอีอีซีได้ให้ฝ่ายกฎหมายของอีอีซี ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานไปพิจารณาผลการอุทธรณ์ดังกล่าวในวันนี้เวลา 14.30 น.

หากฝ่ายกฎหมายมีมติยืนตามคำสั่ง ก็จะดำเนินเปิดซอง 4 เพื่อพิจารณาต่อไป และแจงบอร์ดอีอีซีรับทราบต่อไป แต่หากไม่เห็นด้วยก็จะต้องไปดำเนินการเปิดซองพิจารณาของกลุ่ม NCP ใหม่ตั้งแต่ซองที่ 2 ใหม่ จะทำให้กรอบเวลาที่วางไว้ต้องเลื่อนออกไปอีก ทั้งนี้ เมื่อเช้าที่ผ่านมาได้เรียกกลุ่ม GPC มาชี้แจงข้อเสนอซองที่ 4 บ้างแล้ว ในประเด็นที่มาและกรอบแนวคิดของการเสนอผลตอบแทนต่างๆ

นอกจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกได้รับทราบถึงกรณีที่กลุ่ม NCP ไปยื่นฟ้องศาลปกครองกลางแล้ว โดยล่าสุดศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีดังกล่าว ทาง NCP จึงไปยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินอีก และผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำความเห็นเสนอต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ให้ฝ่ายกฎหมายของอีอีซีเป้นผู้ตรวจสอบในประเด็นนี้เช่นกัน โดยฝ่ายกฎหมายจะพิจารณารวมกับประเด็นข้างต้นในวันนี้

@เล็งเปิดซอง 4-5 พิจารณาควบ

ขณะที่ความคืบหน้าของการพิจารณาคัดเลือกเอกชน ตอนนี้ได้เริ่มเปิดซอง 4 พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่เจรจากัน คณะกรรมการคัดเลือกให้มาชี้แจงเรื่องโมเดลทางการเงินที่กลุ่ม GPC เสนอมาก่อน ส่วนซองที่ 5 (ข้อเสนอเพิ่มเติมที่เพิ่มประสิทธิภาพโครงการ) ใน RFP ไม่ได้ระบุว่าให้เปิดซองเมื่อไร คณะกรรมการคัดเลือกอาจจะพิจารณาเปิดซองควบคู่ไปกับซองที่ 4 ไปเลยก็ได้ แต่อยู่ระหว่างหารือกันอยู่


ส่วนกรอบเวลาที่บอร์ดอีอีซีเคยวางไว้นั้น ยังไม่สามารถตอบได้จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ต้องรอผลพิจารณาจากฝ่ายกฎหมายอีอีซีในวันนี้ก่อน แต่จะทำให้เร็วทีสุด