รถไฟไทย-จีนรอรัฐบาลใหม่เคาะแสนล.

รัฐบาลทหารรูดม่านประมูลรถไฟไทย-จีนเคาะไม่ทัน ยกขบวนกว่า 1 แสนล้านให้รัฐบาลใหม่ประทับตรา เผยผลคืบหน้า 3 สัญญา “รายกลาง-ยูนิคฯ” ปาดหน้าขาใหญ่ซิวเค้ก หั่นราคา 15-16% ร.ฟ.ท.ฟุ้งรับเหมาหั่นราคา 5 สัญญา ประหยัดเงินได้เฉียด 1 หมื่นล้าน ปลาย พ.ค. คลอด TOR อีก 6 สัญญา ขอ ครม.เลื่อนเซ็นสัญญางานระบบมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีความเป็นไปได้สูง งานประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หรือรถไฟไทย-จีน ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท ยังเหลือ 12 สัญญา วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท จะเซ็นสัญญาไม่ทันภายในรัฐบาลปัจจุบัน

“ตามระเบียบการประมูล e-Bidding ถึงได้ผู้เสนอราคาต่ำสุดแล้ว ต้องมีกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ เทคนิคอีก จึงจะประกาศผลผู้ชนะได้”

ปัจจุบันกำลังตรวจสอบผลประมูล 2 สัญญา ได้แก่ ช่วงนวนคร-บ้านโพ 23 กม. ราคากลาง 13,293 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้า บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น, บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ.เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 11,525 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,768 ล้านบาท หรือ 13.30%

สัญญาช่วงดอนเมือง-นวนคร 21.80 กม. ราคากลาง 10,917 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้า บจ. ซิโนไฮโดร บจ.สหการวิศวกร และ บจ. ทิพากร เสนอราคาต่ำสุด 8,626 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 2,291 ล้านบาท หรือ 20.98%

สำหรับผลประมูล 3 สัญญา รวม 99.26 กม. วงเงิน 33,958 ล้านบาท เปิดยื่นเสนอราคาวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บ้านม้า 30.21 กม. เป็นงานระดับดิน 10.18 กม. และยกระดับ 20.03 กม. วงเงิน 11,064 ล้านบาท

มียื่น 6 ราย ได้แก่ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, กิจการร่วมค้าทีพี (ทิพากร-พีซีอีที), กิจการร่วมค้า ITD และ CREC (อิตาเลียนไทยฯ-ไชน่าเรลเวย์ฯ นับเบอร์ 10 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป), บจ.บีพีเอ็นพี, บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่งและกิจการร่วมค้าทีบีบีที (บุรีรัมย์ก่อสร้าง-ทีบีทีซี) โดย บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่ง เสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 15.7% หรือ 1,736 ล้านบาท

2.ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด 37.45 กม. เป็นงานระดับดิน 14.12 กม. และยกระดับ 23.33 กม. วงเงิน 11,656 ล้านบาท มียื่น 6 ราย ได้แก่ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, กิจการร่วมค้าทีพี (ทิพากร-พีซีอีที), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.บีพีเอ็นพี (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง), กิจการร่วมค้าไทยเอ็นจิเนียริ่งและไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC) และกิจการร่วมค้าทีบีบีที (บุรีรัมย์ก่อสร้าง-ทีบีทีซี) โดย บจ.บีพีเอ็นพี เสนอราคาต่ำสุด 9,788 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16% หรือ 1,864 ล้านบาท

และ 3.ช่วงพระแก้ว-สระบุรี 31.60 กม.เป็นงานระดับดิน 7.02 กม. และยกระดับ 24.58 กม. วงเงิน 11,240 ล้านบาท มียื่นซอง 8 ราย ได้แก่ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, กิจการร่วมค้าเอ็นเอ (เอ.เอส. แอสโซซิเอท-เนาวรัตน์พัฒนาการ), กิจการร่วมค้าทีซี (ทิพากร-ไชน่าฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่ง, บจ.บุญชัยพาณิชย์และกิจการร่วมค้าทีบีบีที (บุรีรัมย์ก่อสร้าง-ทีบีทีซี) โดย บมจ.ยูนิคฯเสนอราคาต่ำสุด 9,429 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16.1% หรือ 1,809 ล้านบาท

“กำลังตรวจคุณสมบัติ จะประกาศผลผู้ชนะได้น่าจะอีกพักใหญ่ เพราะเอกสารค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้รับเหมา 5 สัญญา ยื่นต่ำกว่าราคากลาง ทำให้ประหยัดเงิน 9,468 ล้านบาท อีก 7 สัญญาที่เหลือจะประกาศร่างทีโออาร์ 6 สัญญา ช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ เปิดยื่นซองเดือน มิ.ย.”

อีก 7 สัญญา ค่าก่อสร้างเฉลี่ยสัญญาละ 10,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.อุโมงค์มวกเหล็ก-ลำตะคอง 2.บันไดม้า-ลำตะคอง 3.โคกกรวด-นครราชสีมา 4.บางซื่อ-ดอนเมือง 5.งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 6.บ้านโพ-พระแก้ว และ 7.สระบุรี-แก่งคอย

สำหรับสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีจากจีน ผลการเจรจาล่าสุดมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ฝ่ายจีนลดราคาจาก 51,000 ล้านบาท เหลือ 50,600 ล้านบาท เกินจากกรอบ ครม.ที่อนุมัติไว้ 38,558 ล้านบาท เพราะมีโยกงานโยธามาไว้ในสัญญานี้ และเปลี่ยนขบวนรถให้ทันสมัย จะเสนอ ครม.อนุมัติเพื่อเซ็นสัญญาเร็ว ๆ นี้ เลื่อนจากเดิมกำหนดเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในสัญญานี้นอกจากจะซื้อระบบแล้ว จะมีการใช้เงินกู้บางส่วนจากจีนด้วย