แห่ค้านร่างผังเมือง กทม.ใหม่ เอื้อกลุ่มนายทุน “วิชาญ มีนชัยนันท์” ขอปรับสีเขียวรับรถไฟฟ้า

วันที่ 24 พ.ค.2562 เวลา 09.00 น. ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มี นายสมชาย เดชากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กล่าวรายงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน

การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอสาระสำคัญของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้ประชาชนได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นขั้นตอนตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครสู่ “เมืองสร้างสุข” อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้มีการปรับปรุงผังเมืองรวมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันถือเป็นครั้งที่ 4
โดยการจัดทำผังเมืองรวม ประกอบด้วย 4 แผนผัง คือ 1.แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการใช้ที่ดินให้เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาเมืองในอนาคตสอดคล้องกับการขยายตัวของประชากร เศรษฐกิจ สังคมระบบโครงสร้างพื้นฐานโดยสอดคล้องกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน

2.แผนผังแสดงที่โล่งเพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาพแวดล้อม และการนันทนาการ 3.แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง แสดงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาและขยายตัวของเมือง มีการเพิ่มโครงข่ายถนนมากขึ้นเป็นฟีดเดอร์ให้รถไฟฟ้า

4.แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้เพียงพอเหมาะสมกับการให้บริการ

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมแนวคิด “การพัฒนาพื้นที่โดยรอบ สถานีขนส่งมวลชน หรือ (TOD)” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานและมีความหนาแน่นสูงในพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

และมีการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน หรือ FAR Bonus จาก 5 รูปแบบ เป็น 8 รูปแบบ และเพิ่มมาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (TDR) ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความเป็นธรรมให้กับเจ้าของอาคารอนุรักษ์และพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม และมาตรการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (PUD) ถือเป็นมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ดินสำหรับโครงการขนาดใหญ่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น

หลังจากการประชุมในวันนี้ กรุงเทพมหานครจะนำข้อคิดเห็น ไปปรับแก้ไขร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร จากนั้นจึงเสนอต่อคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการผังเมือง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการปิดประกาศฯ 90 วัน

จะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงข้อคิดเห็นได้ ต่อจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการประกาศราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ต่อไป ซึ่งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะมีผังเมืองรวมฉบับใหม่ใช้บังคับแทนฉบับปัจจุบัน ประมาณปลายปี 2563

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ กล่าวว่า พื้นที่ฝั่งตะวันตกมีการยกเลิกพื้นที่สีเขียวและเขียวลายเป็นพื้นที่สีเหลืองพัฒนาที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย มีแค่พื้นที่เขียวลายบริเวณเขตบางขุนเทียน ขณะที่ฝั่งตะวันออกแม้จะลดพื้นที่ฟลัดเวย์เหลือ 1 ใน 3 แต่ยังมีอยู่ในแนวถนนสายหลักเช่น ถนนสุวินทวงศ์ ถนนหทัยราษฎร์ ถนนนิมิตรใหม่ ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้ยกเลิกเนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้ามาถึงแล้ว การเดินทางสะดวกขึ้น สวนทางกับพื้นที่ชั้นในที่ผังเมืองส่งเสริมให้มีการพัฒนาและแชร์ริ่งพื้นที่ได้

“อยากจะให้นำพื้นที่ค่ายทหาร เรือนจำ มารวมกันเป็นสวนสาธารณะ อย่าหวังการพัฒนาจากภาคธุรกิจที่จะขอพื้นที่มากขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ความคิดเห็นอื่นๆที่มีต่อผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่มีหลากหลาย. เช่น กรณีการลดพื้นที่ก่อสร้างที่จอดรถในอาคารพื้นที่ในเมืองจาก 40% เหลือ 25% เป็นการตอบสนองกลุ่มทุนมากกว่าจะพัฒนาเมือง, ทางด้านประชนในเขตลาดกระบังอยากจะขอให้ปรับสีผังเมืองการใช้ประโยชน์ที่ดินให้พัฒนาที่อยู่อาศัยรวมได้ เนื่องจากเป็นแหล่งงานและการศึกษา


ทั้งนี้มีทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นำโดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ เป็นผู้นำยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีผังเมืองใหม่เอื้อต่อการพัฒนาอาคารสูงในซอย เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมาก จีงขอให้มีการทบทวนใหม่