เปิดร่างสัญญาร่วมทุน 50 ปีไฮสปีด ซี.พี.

สถานีกลางบางซื่อ - บรรยากาศบริเวณชานชาลาชั้น 3 ของสถานีกลางบางซื่อซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับรถไฟความเร็วสูง ทั้งไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟไทย-จีนและไทย-ญี่ปุ่น เพื่อเชื่อมการเดินทางไปยังภาคตะวันออก อีสานและเหนือ

เปิดร่างสัญญา 50 ปี ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน กลุ่ม ซี.พี.เสนอประโยชน์ให้รัฐ 10 ปี 300 ล้าน ครม.อนุมัติแก้ไขสัญญาได้ ระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สร้างสเปอร์ไลน์ ต่อขยายอู่ตะเภา-ระยอง

รายงานข่าวเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลการคัดเลือก การเจรจาและร่างสัญญาร่วมทุนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บมจ.ช.การช่าง บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้ยื่นข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทนที่ผ่านการพิจารณาตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีมติอนุมัติ

โดย ซี.พี.ให้รัฐร่วมลงทุน 10 ปี ตั้งแต่ปีที่ 6-15 ปีละ 14,965 ล้านบาท รวม 149,650 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 117,227 ล้านบาท ซึ่งไม่เกินกรอบวงเงินที่ ครม.กำหนดไว้ 152,457 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 119,425 ล้านบาท และ ซี.พี.ยังเสนอผลประโยชน์ให้รัฐ 30 ล้านบาทต่อปี รวม 10 ปี เป็นจำนวนเงิน 300 ล้านบาท นอกจากค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชา กว่า 5 หมื่นล้านบาท และค่าใช้สิทธิเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาท

“มีข้อเสนอด้านเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการของ ซี.พี.ที่คณะกรรมการคัดเลือกรับไว้ เช่น เชิญชวนบริษัทผู้ผลิตขบวนรถไฟชั้นนำให้มาลงทุนก่อสร้างโรงงานประกอบขบวนรถไฟและโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์และอะไหล่สำหรับรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่อีอีซี และให้ ร.ฟ.ท.ใช้พื้นที่อาคารที่จะก่อสร้างบริเวณมักกะสัน จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์และการคมนาคมสมัยใหม่”

สำหรับร่างสัญญาทาง ซี.พี.ตกลงยอมรับร่างสัญญาร่วมทุนของโครงการที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดและเจรจาเพิ่มเติม โดยร่างสัญญาร่วมทุนประกอบด้วยหลักการของโครงการและหัวข้อที่เป็นสาระสำคัญ 28 ข้อ 1.การดำเนินโครงการ 2.ระยะเวลาของโครงการ 3.สิทธิและหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญา 4.สิทธิและหน้าที่ของ ร.ฟ.ท. 5.การให้สิทธิช่วงในส่วนของการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการรถไฟ 6.การลงทุนของหน่วยงานเจ้าของโครงการเอกชนคู่สัญญา

7.เงื่อนไขและการเริ่มต้นการดำเนินโครงการ 8.กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโครงการ 9.ผลประโยชน์ตอบแทนของ ร.ฟ.ท. 10.การตรวจสอบความถูกต้องของการชำระผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ร.ฟ.ท. 11.มาตรการสนับสนุนโครงการ 12.การให้สิทธิที่จะปฏิเสธก่อนในการพัฒนาและดำเนินการโครงการส่วนต่อขยายสนามบินอู่ตะเภา-ระยอง 13.หลักประกันสัญญา 14.หนังสือรับประกัน

15.โครงสร้างผู้ถือหุ้น 16.การให้ความยินยอมในการก่อภาระผูกพัน 17.การระดมทุนในตลาดทุนรวมถึงการระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 18.การจัดทำแนวเส้นทางรถไฟย่อยออกจากแนวเส้นทางหลัก (spur line) 19.การคิดผลประโยชน์ตอบแทนของ ร.ฟ.ท.ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ

20.เหตุผิดสัญญา 23.เหตุสุดวิสัย 24.การใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะ 25.การสิ้นสุดของสัญญาร่วมลงทุนและผลของการเลิกสัญญาร่วมลงทุน 26.การว่าจ้าง การเปลี่ยนการจ้างและยกเลิกสัญญาจ้าง 27.การเข้าทำ การใช้สิทธิเยียวยาโครงการ และสิ้นสุดสัญญาที่เข้าทำโดยตรงกับผู้สนับสนุนทางการเงิน และ 28.การแก้ไขสัญญาร่วมทุน


“เป็นส่วนเพิ่มเติมแนบท้ายในสัญญา หากพิจารณารายละเอียด เป็นสิ่งที่เอกชนเคยยื่นข้อเสนอ แต่เป็นหลักการกว้าง ๆ ที่สามารถจะปรับได้ระหว่างทาง เพราะสัญญาให้แก้ไขสัญญาร่วมทุนได้และ ครม.อนุมัติเป็นหลักการไว้แล้ว”