ใกล้จบ! รฟม-ทางหลวงเร่งเคาะแบบรถไฟฟ้าภูเก็ต3หมื่นล้าน “ไพรินทร์” จี้ให้เสร็จก่อนหมดเวลาทำ EIA

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมพิจารณาแก้ไขปัญหาโครงการระบบขนส่งมมวลชน จ.ภูเก็ต ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับกรมทางหลวง (ทล.) ในวันนี้ (6 มิ.ย.) ถือว่าพิจารณาครบหมดแล้ว รฟม.ได้นำเสนอการออกแบบโครงสร้างโครงการไว้หลายแบบ เพื่อให้ ทล.เลือก

เบื้องต้นจะใช้รูปแบบแชร์เลนร่วมกับรถบนถนน ไม่ทำแบบแบ่งเลนไว้สำหรับระบบรถไฟฟ้ารางเบาแบบเดิม เพื่อไม่ให้กระทบกับเลนจราจรของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 402 (โคกกลอย-เมืองภูเก็ต) ของ ทล. ซึ่งในช่วงเวลาปกติก็มีปัญหารถติดสะสมมากอยู่แล้ว อีกทั้งทางหลวงดังกล่าวก็เป็นทางหลวงเส้นเดียวที่ จ.ภูเก็ตมี ส่วนจะสรุปได้เมื่อไหร่ คาดว่าการประชุมในสัปดาห์หน้าน่าจะสรุปกันได้

“งบประมาณน่าจะเพิ่มไม่เยอะ เพราะจะมีทั้งเพิ่มและลดในบางจุด แต่จะพยายามแก้ให้เร็วที่สุด เพราะกระบวนการทำรายงาน EIA ใกล้หมดระยะเวลาทำรายงาน 2 ปีแล้ว ก็ต้องเร่งให้จบ” นายไพรินทร์กล่าว

สำหรับรายละเอียดรถไฟฟ้าภูเก็ตจากผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) รูปแบบที่เหมาะสมเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาระบบ tram แบ่งก่อสร้าง 2 ระยะ ในระยะที่ 1 ช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง 41.7 กม. และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ 16.8 กม.

โดย รฟม.จะเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 มี 21 สถานี เป็นระดับพื้นดิน 19 สถานี ยกระดับ 1 สถานี และใต้ดิน 1 สถานี ลงทุน 34,827.28 ล้านบาท แยกเป็นค่าเวนคืน 1,521 ล้านบาท สร้างเดโป้ 46 ไร่ ตรงโลตัสถลาง สถานีจ่ายระบบไฟฟ้า และจุดเป็นทางโค้งงานโยธา 17,797 ล้านบาท ระบบรถไฟฟ้า 9,508 ล้านบาท จัดหาขบวนรถเริ่มต้น 2,492 ล้านบาท ค่าสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง 13.65 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด 303 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการ 1,452 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 1,737 ล้านบาท