ไฮสปีด 3 สนามบินติดหล่ม รื้อย้าย 300 สัญญา

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อยู่ระหว่างสำรวจเส้นทางโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เพื่อส่งมอบให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ไปก่อสร้าง

นอกจากพื้นที่เวนคืน 850 ไร่และสิ่งปลูกสร้าง 245 หลัง วงเงิน 3,570 ล้านบาทแล้ว ยังมีพื้นที่ติดสัญญาเช่า 314 สัญญาที่จะต้องบอกเลิก เช่น บริเวณมักกะสันจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดินเพชรบุรี ยังมีพื้นที่ที่ถูกบุกรุกในเขตกรุงเทพฯ

และศรีราชา ซึ่งมากที่สุดตั้งแต่แยกอุรุพงษ์ถึงพญาไทด้านซ้ายของทางรถไฟที่จะใช้ก่อสร้างมีประมาณ 88 ราย อยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาฟ้องขับไล่ให้ออกจากพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่มีสาธารณูปโภคกีดขวางจะเป็นท่อน้ำมันและสายไฟฟ้า มีที่มักกะสันพบท่อก๊าซ ปตท.และช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองมีทั้งท่อก๊าซและทุบตอม่อโฮปเวลล์ทิ้งอีก 80-90 ต้น ซึ่ง ซี.พี.จะต้องรื้อเองทำให้ต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้น

สำหรับพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์จะส่งมอบที่สถานีมักกะสัน 100 ไร่ได้ก่อน อีก 40 ไร่ ติดย้ายพวงราง ตอนนี้ ร.ฟ.ท.ได้เตรียมงบประมาณรื้อย้ายและสร้างทดแทนไว้แล้ว 300 ล้านบาท อยู่ระหว่างหารือรูปแบบการดำเนินการ โดยมี 2 ทางเลือกคือ ร.ฟ.ท.ดำเนินการเองหรือจัดสรรงบฯให้ ซี.พี.เป็นผู้ดำเนินการ ขณะที่สถานีศรีราชา 25 ไร่จะต้องรอรื้อย้ายบ้านพักรถไฟ

“หากกางพื้นที่ตลอดแนว 220 กม.แล้ว พื้นที่มีความพร้อมจะส่งมอบให้ ซี.พี.ได้ก่อนคือ ช่วงสนามบินสุวรรณภูมิ-จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะทางประมาณ 30 กม. เนื่องจากยังไม่พบว่ามีผู้บุกรุกหรือมีสิ่งก่อสร้างไปกีดขวางเส้นทางแต่อย่างใด แต่ตามประกาศ TOR ร.ฟ.ท.จะต้องดำเนินการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดให้กลุ่ม ซี.พี.ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่ลงนามในสัญญา ทั้งนี้การจะลงนามสัญญาได้ก็ต่อเมื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอได้รับอนุมัติแล้ว ส่วนเรื่องส่งมอบพื้นที่จะเจรจากับ ซี.พี.ส่งมอบให้เท่าที่พร้อม เพราะจะให้ส่งมอบ 100% คงเป็นไปไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) อนุมัติรายงานอีไอเอแล้ว จะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม วันที่ 24 มิ.ย. หลังจากนี้สามารถเซ็นสัญญาได้ทันที