คมนาคมเร่งเชื่อมรถ-ราง-เรือ ยกเครื่องท่าเรือพระนั่งเกล้า บางโพ ต่อรถไฟฟ้าสีม่วง-สีน้ำเงินต่อขยาย สร้างสะพานเกียกกาย ถนนยกระดับ 1.3 หมื่นล้าน ทะลวงรถติดรัฐสภาใหม่เปิดใช้ปีหน้า ผุดชัตเทิลบัสรับมือสีม่วงใต้ จ่อพัฒนา BRT ป้อนคนเข้าสถานีหลักหกรังสิต เปิดหน้าดินเนรมิตบัสเทอร์มินอล
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 คณะกรรมการพิจารณาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกับขนส่งสาธารณะ มีมติให้เชื่อมต่อระบบรถ ราง เรือ กับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) ที่สถานีสะพานพระนั่งเกล้า
โดยมอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรมเจ้าท่า ร่วมดำเนินการเชื่อมสถานีรถไฟฟ้ากับท่าเรือดังกล่าว โดยให้รถโดยสาร ขสมก.เชื่อมกับท่าเรือ และทุกสถานีรถไฟฟ้า เช่น สถานีบางโพ (สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเตาปูน-ท่าพระ) จะปรับปรุง พร้อมสร้างท่าเรือใหม่
“การจัดระบบจราจรจะให้เชื่อมกับบริเวณรัฐสภาใหม่ด้วย โดยบูรณาการทั้งระบบรถ ราง เรือ พื้นที่ชุมชน และย่านธุรกิจของรถไฟสายสีแดงที่จะต่อเชื่อมไปยังศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีอาคารจอดแล้วจร ร้านค้า อาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย”
ทะลวงรถติดเกียกกาย
การเชื่อมต่อกับรัฐสภาใหม่จะมีอีกหลายโครงการ ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเวนคืนและตั้งงบประมาณปี 2563 วงเงิน 12,852 ล้านบาท
ประกอบด้วย ถนนยกระดับในฝั่งธนบุรี 3 กม. สะพานข้ามเจ้าพระยา 480 เมตร ถนนยกระดับฝั่งพระนครจากเจ้าพระยา-แยกสะพานแดง 1 กม. ถนนยกระดับจากสะพานแดง-ถนนกำแพงเพชร 1.8 กม. ถนนยกระดับจากกำแพงเพชร-พหลโยธิน 1.4 กม. ขยายถนนสามเสน ถนนประชาราษฎร์สาย 1 สร้างถนนคู่ขนานสามเสน เชื่อมถนนประชาชื่นกับถนนพระราม 6 ถนนเลียบคลองเปรมประชากรจากถนนเตชะวณิชย์-ถนนรัชดาภิเษก และขยายถนนเทิดดำริจากถนนเศรษฐศิริ-ถนนประชาราษฎร์สาย 2
เร่งเวนคืนเกียกกาย
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กทม.กำลังเดินหน้าก่อสร้างสะพานเกียกกาย รองรับการจราจรรอบรัฐสภาใหม่ และเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร ซึ่งปีนี้ได้จัดสรรงบประมาณ 1,300 ล้านบาท จ่ายค่าเวนคืนแล้ว และปี 2563 ตั้งคำขอทั้งเวนคืนส่วนที่เหลือและค่าก่อสร้าง
โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณ กทม. 50% ที่เหลือขออุดหนุนจากรัฐ รวมทั้งโครงการใช้เงินลงทุน 12,852 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 5,225 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 135 ล้านบาท ค่าเวนคืน 7,492 ล้านบาท ซึ่งค่าเวนคืนเพิ่มขึ้นจากเดิม 20% คาดใช้เวลา 5 ปี เริ่มปี 2562-2566 ซึ่งแบ่งก่อสร้าง 5 ช่วงคือ 1.ทางยกระดับ ถนนฝั่งธนบุรี เวนคืน 4,120 ล้านบาท มีที่ดินเอกชน 154 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 308 รายการ ค่าก่อสร้าง 770 ล้านบาท 2.สะพานข้ามเจ้าพระยา ค่าเวนคืน 516 ล้านบาท มีที่ดินเอกชน 2 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 4 รายการ ค่าก่อสร้าง 1,350 ล้านบาท
3.ทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยา-แยกสะพานแดง ค่าเวนคืน 2,298 .99 ล้านบาท มีที่ดินเอกชน 36 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 36 รายการ และสิ่งปลูกสร้างหน่วยงานทหาร 9 หน่วย ค่าก่อสร้าง 980 ล้านบาท 4.ทางยกระดับและถนนฝั่งพระนครจากแยกสะพานแดง-ถนนกำแพงเพชร ค่าเวนคืน 380 ล้านบาท มีที่ดินเอกชน 90 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 90 รายการ ค่าก่อสร้าง 1,100 ล้านบาท และ 5.ทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากถนนกำแพงเพชร-ถนนพหลโยธิน ค่าเวนคืน 177.5 ล้านบาท มีที่ดินรถไฟ 37 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 71 รายการ ค่าก่อสร้าง 1,025 ล้านบาท
เพิ่มชัตเทิลบัสเชื่อมรัฐสภา
แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนของ รฟม.จะเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ เดือน มี.ค. 2563 และเตรียมสร้างสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ คาดเปิดปี 2568 โดยมีสถานีจอดที่รัฐสภาด้วย ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน ในเดือน ม.ค. 2564
“ย่านเกียกกายมีปัญหาเรื่องรถติด แล้วรัฐสภาใหม่จะเปิดในปีหน้าอีก ยิ่งส่งผลต่อการจราจร จึงต้องหาระบบมาเชื่อมต่อ เช่น จัดรถชัตเทิลบัสเชื่อมรถไฟฟ้าบางโพ เตาปูน สนามบินดอนเมือง-รัฐสภา ปรับปรุงท่าเรือบางโพ เกียกกาย”
ผุด BRT เชื่อมรังสิต
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนการเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงจะมีที่สถานีหลักหกและรังสิต ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี แนวเส้นทางผ่านหมู่บ้านเมืองเอก เทศบาลนครรังสิต ชุมชนเดชาพัฒนา ชุมชนสุขเกษม ชุมชนเทพประทาน เทศบาลตำบลบางพูน และอำเภอคลองหลวง
“ปัจจุบันสถานี 2 แห่ง มีปัญหาทางเชื่อมเข้า-ออกสถานี และไม่มีที่จอดรถ ถนนมาสถานีก็แคบ จึงเสนอให้ใช้รถ BRT ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนทางถนนและลงทุนต่ำมาเชื่อมการเดินทางสู่ระบบหลัก และเชื่อมศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต”
สร้างบัสเทอร์มินอล
ส่วนแนวทางพัฒนาศูนย์เชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์ราชการนนทบุรี จะเชื่อมรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีม่วง สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีน้ำตาล (แคราย-บึงกุ่ม) โดยขอใช้ที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ขนาด 2 ไร่ ริมถนนรัตนาธิเบศร์สร้างอาคาร Bus Terminal เหมือนโมเดลที่ Hakata Station ประเทศญี่ปุ่น รูปแบบจะเป็นจุดเชื่อมรถโดยสารประจำทางและรถไฟฟ้า เป็นอาคารสูง 20 ชั้น ด้านล่างเป็นที่จอดรถรับส่งสาธารณะ 3 ชั้น มีรถมินิบัสและแท็กซี่ อาคารจอดรถ (Park & Ride) พื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร อาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัยจะอยู่บนสุด มีสกายวอล์กรถไฟฟ้า
แหล่งข่าวกล่าวว่า จะเป็นรูปแบบเดียวกับการพัฒนาสถานีหมอชิต ที่กลุ่มบางกอกเทอร์มินอลได้สัมปทาน โดยให้กรมธนารักษ์ ในฐานะเจ้าของที่ดินเป็นผู้ดำเนินการจัดหาเอกชนลงทุนตามแนวคิดและทีโออาร์ที่กระทรวงคมนาคมกำหนด