รำลึกถึง “ป๋าเปรม” ปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการต่อแผ่นดิน ไม่มีป๋า “อีสเทิร์นซีบอร์ด” ไม่เกิด

แฟ้มภาพ

นายสมเจตน์ เตระคุพ อดีตรองเลขาฯสภาพัฒน์ ได้สรุปความเป็นมาของ Eastern Seaboard ไว้หรือโครงการการพัฒนาชายทะเลภาคตะวันออกอย่างน่าสนใจ

เพื่อเป็นการรำลึกถึงป๋าเปรม ปูชนียบุคคลผู้มีคุณูปการต่อแผ่นดินกรณี ESB (Eastern Seaboard) ไม่มีป๋า ESB ไม่เกิด

เริ่มต้นจากปี 2523 หลังป๋าเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่นาน เกิดปัญหาความขัดแย้งโครงการโซดาแอชซึ่งเป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพและจะไปตั้งโรงงานบริเวณใกล้พัทยา แหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติของประเทศ

จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงและมีทีท่าจะบานปลาย ป๋าจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ป๋าเป็นประธานเอง มี ดร.เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาขึ้นคณะหนึ่งมีรัฐมนตรีอาณัติ อาภาภิรม เป็นประธาน ดร.เสนาะเป็นรองประธาน และ ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

และมอบหมายให้ ดร.เสนาะไปจัดตั้งทีมงานพิเศษจากสภาพัฒน์และหน่วยงานอื่นๆ โดยขอยืมตัวไปปฏิบัติงานที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการคณะอนุกรรมการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (สพอ.) โดยมี ดร.สาวิตต์ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สพอ.

ภายใต้กลไก สพอ.ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นศึกษาด้านต่างๆ อีก 8 ด้าน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านท่าเรือ ด้านสังคมและการเมือง ด้านอุตสาหกรรม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านผังเมือง รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ประสานงานกับคณะทำงานเฉพาะกิจชุดต่างๆ นั่งปฏิบัติงานที่ชั้น 2 ของตึกไทยคู่ฟ้าหลังจากใช้เวลาศึกษา 90 วัน สพอ. ได้ประมวลผลการศึกษาทั้งหมดและจัดทำรายงานผลการศึกษา

สรุปได้ว่า โรงงานอุตสาหกรรมหลักไม่ว่าจะเป็นโครงการโซดาแอช โครงการปุ๋ย โครงการเหล็ก จำเป็นต้องใช้ท่าเรือน้ำลึก จึงต้องเลือกที่ตั้งบริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งผลการศึกษาเสนอแนะให้อุตสาหกรรมเหล่านี้ไปตั้งบริเวณพื้นที่มาบตาพุด ระยอง ซึ่งเป็นทะเลเปิด สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า

รายงานผลการศึกษาการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักและท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกนี้ได้นำเสนอตามขั้นตอนและได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อ 21 เมษายน 2524

หมายเหตุ : ระหว่างที่พวกเรานั่งทำงานอยู่บนชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นห้องทำงานของนายกรัฐมนตรี วันหนึ่งป๋าเดินขึ้นมาดูโดยไม่แจ้งล่วงหน้า มีคนได้ยินท่านบอกว่าห้องนี้สวยนะ ต่อมา เมื่อพวกเราย้ายออก ก็มีการปรับปรุงตึกไทยคู่ฟ้า และป๋าก็ย้ายห้องทำงานมาที่นี่

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติมอบหมายให้สภาพัฒน์รับไปศึกษาจัดทำรายละเอียดแผนแม่บท ESB และประสานงานกับหน่วยราชการต่างๆ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการทั้งด้านอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก โครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนอื่นๆ รวมตลอดทั้งการจัดทำผังเมืองและพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ชุมชนให้สอดคล้องกันต่อไป

ในการนี้ ป๋าก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (กพอ.) ขึ้นใหม่ มีป๋าเป็นประธาน รมต.และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ โดยมีเลขาธิการสภาพัฒน์ ดร.เสนาะ อูนากูลเป็นกรรมการและเลขานุการ ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค ร่วมเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการด้วย คณะกรรมการ กพอ.นี้

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มอบอำนาจให้ตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวข้องได้แทน ครม. เพียงให้รายงานมติเสนอ ครม. เพื่อทราบและถือเป็นมติ ครม. ในส่วนของสภาพัฒน์ ก็ได้ตั้งหน่วยงานระดับกองขึ้นใหม่ คือ ศูนย์วิเคราะห์และประสานแผนปฏิบัติการ มี ดร.สาวิตต์เป็นผู้อำนวยการศูนย์คนแรก โดยให้ใช้ตึกกลาง (อาคารสุริยานุวัตร ปัจจุบัน) เป็นที่ทำงาน

ต่อมาเมื่อมีเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมทำงานมากขึ้น ป๋าก็ได้อนุมัติงบกลาง 10 ล้านบาทให้ไปต่อเติมอาคารตึกการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) มักกะสัน ขึ้นอีก 1 ชั้นเป็นชั้นที่ 5 เพื่อใช้เป็นที่ทำงานของสำนักงาน ESB ปัจจุบันได้มอบพื้นที่คืนให้ กนอ.ไปแล้ว

สำนักงาน ESB ได้เริ่มจัดให้บริษัทวิศวกรที่ปรึกษามาจัดทำแผนแม่บท ตั้งแต่ปี 2524 พร้อมทั้งขอความร่วมมือทางวิชาการจากต่างประเทศให้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำงานเป็น In-House Advisors จึงมีทั้งผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มประเทศตะวันตกและญี่ปุ่นเข้ามาทำงานที่สำนักงาน ESB

ส่วนการศึกษาจัดทำรายงานความเหมาะสมโครงการท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง/นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด/นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงโครงการอื่นๆเช่น โครงการท่อส่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย ได้รับความช่วยเหลือจาก JICA รัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเตรียมการขอใช้เงินกู้ต่างประเทศจาก OECF รัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับการออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรมและการก่อสร้างในขั้นตอนต่อๆ ไป

ในการประชุมคณะกรรมการ ESB ครั้งหนึ่ง ป๋าได้ถามขึ้นว่า บ้านเราก็มีคนเก่งที่เรียนจบสาขาต่างๆ มากมาย ทำไมจึงต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศจำนวนมาก จำได้ว่า ดร.อาณัติ อาภาภิรม ตอบป๋าไปว่า ความรู้ด้านวิชาการบ้านเรามีแต่เราจำเป็นต้องพึ่งประสบการณ์จากต่างประเทศสำหรับงานใหม่ๆ ที่เรายังไม่เคยทำ

เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมเงินกู้สำหรับการออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรมเพื่อก่อสร้างต่อไปในปลายปี 2528 ปรากฏว่าภาวะเศรษฐกิจประเทศไม่เอื้ออำนวยประเทศมีภาระหนี้สูง โครงการตามแผนงาน ESB จึงถูกชะลอ ครม.แต่งตั้งคณะทำงานระดับ รมต.3 ท่านมาทบทวนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2528

หลังจากใช้เวลาศึกษาเตรียมแผนมาแล้ว 4 ปี แผนงานโครงการขนาดใหญ่และเป็นเรื่องใหม่ของประเทศที่ยังไม่เคยทำมาก่อนจะต้องใช้ระยะเวลาในขั้นตอนเตรียมการยาวนานหลายปี ซึ่งระหว่างทาง หากมีปัญหาอื่นแทรกเข้ามาทำให้ต้องถูกทบทวนหรือชะลอออกไป หากจะเดินหน้าต่อ ก็ต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวอย่างโครงการย้ายสนามบินดอนเมืองไปที่แห่งใหม่บริเวณหนองงูเห่า ต้องใช้เวลาประมาณ 40 ปี กว่าจะเกิดสนามบินสุวรรณภูมิ

ช่วงเวลากว่า 1 เดือนที่แผนงาน ESB ถูกทบทวน มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เกือบทุกวัน ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านประกอบข้อมูลเชิงวิชาการประเด็นต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าป๋าคงติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด ในการเข้าชี้แจงต่อคณะทำงานระดับรมต. แม้คณะทำงานจะเห็นความสำคัญของแผนงาน ESB แต่เนื่องจากฐานะการเงินของประเทศไปไม่ไหว มีรัฐมนตรีท่านหนึ่งในคณะทำงานถามว่า ถ้าให้เลือก จะเอาแหลมฉบังหรือมาบตาพุด ซึ่งก็มีการชี้แจงว่าแต่ละพื้นที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายและสื่อต่างๆ เชื่อกันว่า คณะทำงานระดับ รมต. มีข้อสรุปที่จะเสนอ ครม.ในวันอังคาร 24 ธันวาคม 2528 แล้ว ก่อนประชุม ครม.ไม่กี่วัน ดร.สาวิตต์ มีโอกาสเจอป๋าโดยบังเอิญ ป๋าจึงบอกให้ดร.สาวิตต์เข้าไปชี้แจง ครม.วันที่ 24 ด้วย ผลปรากฏว่า ป๋าและ ครม.อนุมัติให้เดินหน้าแผนงาน ESB ทั้งแหลมฉบังและมาบตาพุด

โดยให้ลงทุนระยะแรกเท่าที่จำเป็น ทำให้สามารถรักษาหัวใจของแผนงาน ESB คือท่าเรือพาณิชย์/นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง และท่าเรืออุตสาหกรรม/นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไว้ได้ ซึ่งกาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ป๋าเป็นผู้นำที่รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายแล้วตัดสินใจในภาวะวิกฤตเพื่อประโยชน์ของประเทศได้อย่างยอดเยี่ยม

ถือเป็นบุญของประเทศที่รัฐบาลป๋ามีความต่อเนื่องในการทำหน้าที่ถึง 8 ปี ประกอบทั้งป๋ามีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ยอมรับของสังคม ทำให้ป๋าสามารถตัดสินใจเดินหน้าแผนงาน ESB ถือเป็นการยกระดับการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล