กทม.ตั้งงบรายจ่ายปี’63 พุ่ง 83,398 ล้าน “โยธา-จราจร” เฉียด 20% สภาแนะหารายได้เพิ่ม

วันที่ 12 มิ.ย.62 ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ผู้ว่าฯ กทม.ได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้จำนวน 83,398,920,000 บาท จำแนกได้ดังนี้ 1.งบประมาณรายจ่ายจำนวน 83,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 83,000 ล้านบาท โดยจ่ายจากรายได้ประจำจำนวน 83,000 ล้านบาท

2.งบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์จำนวน 398.92 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 283.285ล้านบาท รายจ่ายพิเศษ จำนวน 115.635 ล้านบาท

ทั้งนี้ กทม.มีนโยบายในการจัดทำงบประมาณแบบสมดุล โดยพิจารณาการของบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานตามความจำเป็นเร่งด่วน ภาระผูกพันของงานและโครงการต่างๆ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2529 โดยประมาณการรายรับ จำนวน 83,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมา จำนวน 3,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.75%

ในส่วนของประมาณการรายรับของงบการพาณิชย์ของ กทม.จำนวน 674.11 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณที่ผ่านมา จำนวน 76.50 ล้านบาท คิดเป็น 10.19% นอกจากนี้ กทม.ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเป็นเงินอุดหนุนอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้พิจารณาถึงเหตุผล ความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเกิดความคุ้มค่า ประหยัด คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณและความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ

ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 วิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 – 2575) ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ ไปสู่ “มหานครแห่งเอเชีย” ในปี พ.ศ. 2575 และแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครประจำปี พ.ศ. 2563

อย่างไรก็ดี งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สามารถจำแนกตามด้านของงบประมาณ 7 ด้าน ดังนี้ 1.ด้านการบริหารทั่วไป จำนวน 25,474.58 ล้านบาท คิดเป็น 30.69% 2.ด้านการโยธาและระบบจราจร จำนวน 16,362.41 ล้านบาท คิดเป็น 19.71%

3.ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำนวน 13,586.99 ล้านบาท คิดเป็น 16.38% 4.ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย จำนวน 9,863.02 ล้านบาท คิดเป็น 11.88% 5.ด้านการสาธารณสุข จำนวน 6,733.26 ล้านบาท คิดเป็น 8.11% 6.ด้านการพัฒนาและบริการสังคม จำนวน 6,345.50 ล้านบาท คิดเป็น 7.65% และ 7.ด้านการศึกษา จำนวน 4,634.24 ล้านบาท คิดเป็น 5.58%

ทั้งนี้ทางสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมกันอภิปราย และตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของกทม.อย่างกว้างขวางในประเด็นต่างๆ อาทิ รายจ่ายงบกลาง นายธวัชชัย ฟักอังกูร ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้งบกลางที่ผ่านมายังไม่สอดคล้องกับกฎหมายและพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขจะทำให้เกิดความเสียหายในอนาคต

ดังนั้นจึงควรออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เพื่อให้การบริหารกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัว ประเด็นความคุ้มค่า และประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ

ด้านนายภาส ภาสสัทธา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตามข้อเท็จจริงในปัจจุบันพบว่าจำนวนเด็กนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 แห่ง มีจำนวนน้อยลง สำนักการศึกษาจะมีการพิจารณาให้เด็กมาร่วมทำกิจกรรมบูรณาการระหว่างโรงเรียนได้หรือไม่ รวมทั้งการก่อสร้างอาคารของหลายโรงเรียนในปีที่ผ่านมามีการก่อสร้างผิดแบบ และแก้ไขแบบเอง จึงขอให้ระมัดระวังเนื่องจากเป็นไปด้วยความไม่ถูกต้อง และอาจส่งผลในเรื่องของการตรวจสอบในอนาคต

ประเด็นการจัดเก็บรายได้ นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภา กทม.พร้อมให้การสนับสนุน และช่วยเหลือฝ่ายบริหารในการบริหารจัดการรายได้มาโดยตลอด ทั้งการเห็นชอบข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเก็บภาษีน้ำมัน ซึ่งสามารถนำรายได้เข้ากทม.ได้กว่า 240 ล้านบาท

และในอนาคตจะมีการจัดเก็บค่าขยะ และการบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้เห็นว่าการใช้จ่ายงบประมาณของกทม.จะมีแต่รายจ่ายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการหารายได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการวิสามัญที่จะตั้งขึ้นจะได้หารือในรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้สภา กทม.ยังได้ร่วมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงบประมาณการพาณิชย์ การโยธา เงินอุดหนุนรัฐบาล และการก่อหนี้ผูกพันรายจ่ายข้ามปีงบประมาณอีกด้วย