“อัศวิน” ส่งท้ายเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ปิดดีล BTS ตั้งไข่ไลต์เรลบางนา-สุวรรณภูมิ

หลังมีรัฐบาลใหม่และมีการกำหนดเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนใหม่ ชื่อของ “บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” จะกลายเป็นอดีต หลังรั้งเก้าอี้พ่อเมืองเสาชิงช้าจากคำสั่ง ม.44 มานานนับปีนับจากวันที่ 18 ต.ค. 2559

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่คำสั่ง ม.44 ที่แต่งตั้งตนเป็นผู้ว่าฯ กทม.จะสิ้นสุด ก่อนจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ 1 วัน ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด แต่คาดว่าน่าจะอีกอย่างน้อย 3 เดือนนับจากนี้ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลใหม่น่าจะแล้วเสร็จปลายเดือน มิ.ย.นี้

“ภารกิจที่จะต้องทำให้จบก่อนที่ผมจะหมดวาระ คือ สัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะเจรจาบีทีเอสมาร่วมลงทุน 1 แสนล้าน หลังรัฐบาลออกคำสั่ง ม.44 ทำให้การเจรจากับเอกชนเดินหน้าได้เร็ว ในเดือน ก.ย.นี้ น่าจะเริ่มสัมปทานใหม่ คาดว่าจะเป็นการแก้ไขสัมปทานเดิมที่จะครบกำหนดในปี 2572 รวบเป็นสัมปทานเดียวกันทั้งโครงการ ส่วนค่าโดยสารก็เขย่าใหม่ทั้งโครงข่ายเก็บตามระยะทางที่นั่งจริง”

สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวจากคูคต-ลำลูกกาคลอง 4 และสมุทรปราการ-บางปู คงจะยังไม่มีการลงทุนโครงการ เพราะต้องรอประเมินผลเปิดใช้บริการส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตก่อน เนื่องจากโครงการไม่ค่อยคุ้มทุน และ กทม.ก็ไม่มีอำนาจเนื่องจากอยู่ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและสมุทรปราการ ถ้าจะทำต้องให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน กำลังให้ กทม.เร่งดำเนินการเปิดร่วมทุน PPP โครงการระบบขนส่งมวลชนรองระบบไลต์เรลสายบางนา-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.3 กม. วงเงิน 27,892 ล้านบาท ปัจจุบันได้ประสานขอใช้พื้นที่กับกรมทางหลวงชนบทและกรมทางหลวงเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากจะต้องสร้างบนถนนบางนา-ตราด ซึ่งโครงการนี้น่าจะคุ้มทุน เพราะคนที่อยู่อาศัยในแนวเส้นทางมีจำนวนมาก

“ปลายปีหน้าสายสีทองจากกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสานเฟสแรกระยะทาง 1.7 กม. จะสร้างเสร็จ ซึ่งสายนี้ทางเอกชนเป็นผู้ออกเงินค่าลงทุนให้ และ กทม.ให้กรุงเทพธนาคมเป็นวิสาหกิจ กทม.ดำเนินการจัดหาเอกชนก่อสร้าง ติดตั้งระบบและเดินรถ ซึ่งก็ให้บีทีเอสเป็นผู้ดำเนินโครงการให้”

ผู้ว่าฯ กทม.ยังกล่าวถึงโครงการที่อาจจะต้องชะลอออกไป เช่น สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณราชวงศ์-ท่าดินแดง จะยกเลิกโครงการเพราะการลงทุนไม่คุ้มและประชาชนก็ค้านเยอะ เช่นเดียวกับสะพานเดินข้ามศิริราช

“ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ชะลอไว้ก่อน รอกระทรวงมหาดไทยอนุมัติเพราะรัฐบาลให้ กทม.ทำ ซึ่งรัฐอนุมัติกรอบวงเงินมาให้แล้วทั้งโครงการ ในเฟสแรก 14 กม. จากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า-สะพานพระราม 7 วงเงิน 8,363 ล้านบาท แต่ดูแล้วคงจะสามารถดำเนินการได้ 2 สัญญา ประมาณ 7 กม. ช่วงสะพานพระราม 7-กรมชลประทาน สามเสน และสะพานพระราม 7-คลองบางพลัด ที่เหลือก็ชะลอไว้ก่อน”

สำหรับโครงการใหญ่ที่กำลังเดินหน้ามีสะพานเกียกกายที่เวนคืนไปแล้ว กำลังจัดสรรงบประมาณก่อสร้าง เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยการจราจรโดยรอบรัฐสภาแห่งใหม่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เตรียมจะของบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลพัฒนาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย จะใช้เงินลงทุนหลาย 10,000 ล้านบาท ส่วนโรงกำจัดขยะจะให้เอกชนมาดำเนินการ

ถ้าไม่พับแผนกลางคันเสียก่อน คงจะเป็นงานใหญ่รอให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่มาสานต่อ