โปรเจ็กต์เฉพาะกิจ! รถไฟ-การทาง MOU “ทางหลวงชนบท” ดูแลถนนโลคัลโรด”ประชาชื่น-กาญจนาฯ”เป็นทางสาธารณะ

เมื่อเวลา 10.30 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการส่งมอบการดูแลบำรุงรักษา และปรับปรุงพื้นที่ถนนเลียบทางรถไฟ ช่วงถ.ประชาชื่น – ถ.กาญจนาภิเษก ระยะทางไปกลับรวม 30 กม.

โดยมีตัวแทนหน่วยงาน 3 ฝ่ายร่วมลงนาม ได้แก่ นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นายกฤชเทพ สิมลี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และนายสุทธิศักดิ์ วรรธนกิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน รักษาการแทนในตำแหน่งผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

นายอาคมเปิดเผยว่า การลงนามครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่ กทพ.ขอใช้พื้นที่ของ ร.ฟ.ท.ก่อสร้างโครงการทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ระยะทาง 16.7 กม. เปิดให้บริการไปเมื่อปี 2559 ได้มีการสร้างถนนเลียบทางรถไฟ (Local Road) ไว้ด้วย เพื่อให้ประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง โดยเฉพาะช่วงอ.บางกรวย จ.นนทบุรี ที่มีหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่งที่ถูกทางด่วนสายดังกล่าวกั้นกลางไว้ สามารถสัญจรไปมาได้ โดยได้ทำสะพานกลับรถและสะพานลอยคนข้าม ขณะที่รถมอเตอร์ไซด์อาจจะต้องรอไปก่อน เพราะตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างสะพานกลับรถเฉพาะอยู่

“ถนนเส้นนี้มีปริมาณรถใช้งานค่อนข้างเยอะ เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อกับ ถ.กาญจนาภิเษก ราชพฤกษ์ และประชาชื่นบริเวณสะพานพระราม 7 ทางการทางพิเศษฯก็ได้ดำเนินการบำรุงเส้นทางทั้งหมดเสร็จแล้ว เรื่องงานบำรุงรักษาทั้ง 3 หน่วยงานเห็นพ้องต้องกันว่า ควรให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นแม่งานกำกับดูแล เพราะการกำกับดูแลเส้นทางควรจะะขึ้นอยู่กับหน่วยงานเพียงหน่วยงานเดียวก็พอ”

ส่วนงานที่ ทช. ยังต้องทำเพิ่มคือ การเพิ่มไฟส่องสว่างบริเวณจุดกลับรถใต้สะพาน, การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณไหล่ทางและในที่กลับรถใต้สะพาน เพราะมีประชาชนร้องเรียนมามาก และการแก้ปัญหาก่อนหน้านี้มีการเกี่ยงงานไปมา เพราะถนนสายดังกล่าวไม่ใช่ถนนสาธารณะ จึงไม่สามารถดำเนินการในหลายๆ ส่วนได้

อีกทั้งการทางพิเศษฯในฐานะรัฐวิสาหกิจและมีสถานะเป็นเจ้าของโครงการ ต้องแบกรับภาระการจ่ายค่าไฟฟ้าทุกเดือน ตอนนี้รวมแล้วประมาณ 1,000,000 บาท นับตั้งแต่มีการเปิดใช้เส้นทางนี้ ดังนั้น การโอนมาให้ ทช. ที่มีสถานะเป็นหน่วยงานราชการมากำกับดูแลทั้งเส้นทางจะทำให้ถนนสายนี้เป็นถนนสาธารณะ สามารถกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้คล่องตัวกว่าและถาวร ซึ่งหลังจากรับโอนมาแล้ว ทช.จะลงพื้นที่เพื่อสำรวจจุดที่มีปัญหาและดำเนินการซ่อมแซมและฟื้นฟูต่อไป

นายอาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า ความยาวของถนนเลียบทางรถไฟสายนี้ มีความยาว 30 กม. (ไป-กลับ) มีช่วงที่ยังอยู่ในการดูแลของหน่วยอื่นบางส่วน ได้แก่ ช่วง 2.1 กม. บริเวณสะพานข้ามคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันออกที่มาสร้างต่อภายหลัง การทางพิเศษฯได้โอนให้มาอยู่ในการดูแลของเทศบาลเมืองบางกรวย จ.นนทบุรีไปก่อนหน้านี้ กำลังวางแผนที่จะรับมอบพื้นที่ดังกล่าวให้มาอยู่ในความดูแลของ ทช.เพราะช่วงนี้จะเชื่อมกับถ.สิรินธร (ตั้งฮั่วเส็ง) ถ.ปิ่นเกล้า และ ถ.ราชพฤกษ์