คาดรถไฟฟ้าต่อขยาย “สีน้ำเงิน” ผู้โดยสารทะลัก 6 แสน ค่าตั๋วราคาใหม่ “สีเขียว” 16-65 บาท

ปีนี้นอกจากประเทศไทยจะได้ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 30 ยังมีรถไฟฟ้าสายใหม่ที่โหมสร้างกันมานานหลายปี ได้ฤกษ์เปิดบริการเสียที ดีเดย์ให้ประชาชนนั่งฟรีวันที่ 12 ส.ค.-ก.ย.นี้ พร้อมกัน 2 เส้นทาง

สายแรกสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วง “บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค” ระยะทาง 27 กม.ของเจ้าสัว “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” รับสัมปทานเดินรถ 30 ปี ทั้งสายเก่าช่วง “หัวลำโพง-บางซื่อ” ระยะทาง 20 กม. จำนวน 18 สถานี และส่วนใหม่วิ่งเป็นวงกลมเชื่อม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวม 47 กม. จำนวน 38 สถานี

กว่าสัมปทานจะปิดดีลลงตัว “รัฐบาล คสช.” ต้องงัด ม.44 มาสางปมที่ชักเย่อให้จบ หลังการเจรจายืดเยื้อกันอยู่กว่า 2 ปี

เปิดเดินรถสีน้ำเงินเร็วขึ้น

“สมบัติ กิจจาลักษณ์” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ผู้รับสัมปทานโครงการ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะเปิดบริการสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-หลักสอง จำนวน 11 สถานีเร็วขึ้นจากสัญญาที่กำหนดวันที่ 30 ก.ย. 2562 โดยวันที่ 12 ส.ค.นี้จะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองเดินรถเสมือนจริงไม่คิดค่าโดยสารไปถึงวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งเป็นวันแรกที่เริ่มเดินรถตามสัญญาเต็มรูปแบบ คือ เก็บค่าโดยสาร 16-42 บาท

“คำว่าเร็วขึ้นกว่าสัญญา ให้เปิดช่วงทดลองเดินรถ แต่ต้องอยู่ในหลักการ ต้องมีความปลอดภัย ในช่วงทดลองจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการเป็นช่วง ๆ เพราะต้องดูความพร้อมของขบวนรถที่มีทั้งรถเก่าและรถใหม่ที่จะมาวิ่งสับเปลี่ยนกัน ซึ่งรถใหม่จะมาครบทั้ง 35 ขบวนในเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งในช่วงทดลองนี้ยังไม่คิดค่าโดยสาร แต่เมื่อเข้าระบบเดิมจะต้องเก็บค่าโดยสาร”

นายสมบัติกล่าวอีกว่า สำหรับช่วงบางซื่อ-ท่าพระจะดำเนินการรูปแบบนี้เหมือนกัน ในวันที่ 1 ม.ค. 2563 จะเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองเดินรถเสมือนจริงไม่เก็บค่าโดยสารไปถึงวันที่ 31 มี.ค. 2563 จะเปิดเดินรถเต็มรูปแบบ จะทำให้สายสีน้ำเงินเปิดเดินรถครบโครงข่ายเป็นวงกลมทั้งสายเก่าและสายใหม่

คาดผู้โดยสารแตะ 5 แสนคน

“หลังเปิดสายสีน้ำเงินต่อขยายช่วงหัวลำโพง-หลักสอง จะมีคนมาใช้บริการมากกว่าสายสีม่วงที่อยู่ที่ 6 หมื่นเที่ยวคนต่อวัน แน่นอนน่าจะอยู่ที่กว่า 1 แสนเที่ยวคน ทำให้ผู้โดยสารเพิ่มจากปัจจุบัน 3-4 แสนเที่ยวคนต่อวัน เป็น 5 แสนเที่ยวคนต่อวัน และถ้าเปิดเต็มโครงข่ายทั้งหมดในเดือน มี.ค. 2563 จะเพิ่มขึ้น 2 แสนเที่ยวคนต่อวัน จาก 3.4 แสนเที่ยวคนต่อวัน เป็น 5-6 แสนเที่ยวคนต่อวัน เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารในระบบเดิม ทำให้ปี 2563 เป็นปีที่ก้าวกระโดดของ BEM จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 20%”

เมื่อระยะทางเพิ่มขึ้น ต้องใช้เวลาเดินทางนานขึ้นเช่นกัน โดย “เอ็มดี BEM” ฉายภาพว่า ถ้าคนใช้บริการนั่งตลอดเส้นทาง 47 กม. จำนวน 38 สถานี จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เพราะรถวิ่งด้วยความเร็ว 35 กม./ชม. แต่เก็บค่าโดยสารสูงสุดที่ 42 บาทเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม คาดว่าคนใช้บริการจากเดิม 5 สถานี ค่าโดยสารอยู่ที่ 24-25 บาท เป็น 7-8 สถานีค่าโดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาท

สีเขียว 1 สถานี คนใช้ 8 หมื่น

ขณะที่สายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วง “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” จำนวน 16 สถานี มี “บีทีเอสซี-บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” ของเจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ เป็นผู้เดินรถ ก็ใช้ฤกษ์ดีเดย์ 12 ส.ค.นี้เปิดบริการเร็วขึ้นเช่นกัน จากสถานีหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว

“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บีทีเอสซี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการเตรียมความพร้อมเปิดบริการว่า กำลังเร่งติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ยืนยันว่าภายในวันที่ 12 ส.ค.นี้จะเปิดเดินรถจากหมอชิตไปถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าวได้อย่างแน่นอน โดยใช้กระแสไฟฟ้าจากเดโป้ที่หมอชิตจ่ายไฟเพื่อรองรับการเปิดเดินรถดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 80,000 เที่ยวคนต่อวัน

“การเปิดบริการต้องขึ้นอยู่กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เพราะเป็นผู้ก่อสร้าง และ กทม.ในฐานะผู้รับโอนโครงสร้างมาบริหาร แต่เราในฐานะผู้รับจ้างเดินรถก็พร้อม”

สิ้นปีวิ่งยาวถึงแยกเกษตร

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า นอกจากเปิด 1 สถานีแล้ว ภายในสิ้นปี 2562 จะเปิดบริการอีก 4 สถานีไปถึงแยกเกษตร ได้แก่ สถานีพหลโยธิน 24 รัชโยธิน เสนานิคม และ ม.เกษตรศาสตร์ จะทำให้การจราจรบนถนนพหลโยธินจากห้าแยกลาดพร้าวถึงแยกเกษตรคล่องตัวมากขึ้น จากนั้นจะเปิดบริการตลอดสายถึงสถานีคูคตได้ปลายปี 2563

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม.จะเปิดให้บริการฟรีสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าวไปจนกว่าจะได้ผู้รับสัมปทานเดินรถสายสีเขียวทั้งโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามคำสั่ง ม.44 คาดว่าจะได้เอกชนมาดำเนินการวันที่ 4 ก.ย.นี้

ก.ย.เก็บค่าตั๋วใหม่ 16-65 บาท

ล่าสุดทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งคณะกรรมการเจรจากับบีทีเอสตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา จะใช้เวลา 1 เดือนเจรจารายละเอียดเรื่องค่าโดยสารที่กำหนดค่าแรกเข้าครั้งเดียว และเก็บสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ระยะเวลาสัมปทานจะ 30 ปี หรือกี่ปี วันเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญา การชำระค่าร่วมทุนกว่า 1 แสนล้านบาท และส่งร่างสัญญาสัมปทานให้อัยการสูงสุดตรวจร่าง คาดว่าจะเริ่มใช้โครงสร้างราคาใหม่เริ่มต้น 16-65 บาท ในวันที่ 4 ก.ย.นี้