ปัดฝุ่นโปรเจ็กต์ 3 หมื่นล้าน ผุดสะพานสนามบินน้ำเชื่อมกาญจนา-วิภาวดี

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

เป็น 1 ใน 11 สะพาน สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานบริเวณสนามบินน้ำ ที่ “คจร.-คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกกลาง” บรรจุไว้เป็นแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

หลัง “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ศึกษาเสร็จไปเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรพื้นที่ จ.นนทบุรี ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีนี้ โดยมอบให้ “ทช.-กรมทางหลวงชนบท” เป็นเจ้าภาพผลักดันโครงการ

ล่าสุด “ทช.” เริ่มเดินหน้าโครงการเจียดงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมของโครงการ โดยได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นคนในพื้นที่ครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อ.เมือง และ อ.ปากเกร็ด ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการ

หลังมีเสียงสะท้อน “พิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี อยู่ในแผนแม่บทการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแผนแม่บทเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2556 ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในแผนดำเนินการช่วงปี 2565 เป็นต้นไป

กรมมีเกณฑ์การดำเนินโครงการ 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. ศึกษาความเป็นไปได้ เป็นการพิจารณาแนวทางเลือก ศึกษาผลกระทบทางบวกและลบของแต่ละทางเลือกให้ได้แนวทางเลือกเพื่อนำไปสู่การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใช้ระยะเวลา 1 ปี เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2560

2. ทำรายงาน EIA ใช้ระยะเวลา 1 ปี 3. สำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการ 1 ปี 4. ออก พ.ร.ฎ.เวนคืน ควบคู่กับการสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 1 ปี 5. ตั้งงบประมาณ และทำการเวนคืน 1 ปี และ 6. ก่อสร้าง 3 ปี

ทั้งนี้บริษัทที่ปรึกษาลงพื้นที่แล้วพบว่า จาก 4 แนวทางเลือก ที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ แนวทางเลือกที่ 1 ระยะทาง 10.103 กม. มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณใกล้วัดบัวขวัญ แนวเส้นทางไปทางทิศตะวันตก แล้วมุ่งหน้าไปยังสามแยกสนามบินน้ำในบริเวณพื้นที่ของเทศบาลนครนนทบุรี มุ่งไปยังถนนสนามบินน้ำ แนวเส้นทางจะอยู่บนถนนสนามบินน้ำ

โดยรูปแบบถนนจะเป็นทางยกระดับ แนวเส้นทางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวของถนนสนามบินน้ำ และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพื้นที่บ้านพักกรมพลาธิการทหารบก ข้ามมายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะลดระดับเป็นถนนระดับพื้นดินในพื้นที่ตำบลท่าอิฐ และมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ข้ามคลองบางบัวทอง และสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ที่ กม.26 +500

นายพิศักดิ์กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้กรมมีแนวคิดจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสนามบินน้ำและถนนต่อเชื่อมจากถนนกาญจนาภิเษกตะวันตกมายังถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทาง 19 กม. ใช้เงินลงทุนประมาณ 33,603 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 9,574 ล้านบาท และเวนคืนที่ดิน 25,278 ล้านบาท ซึ่งสะพานสนามบินน้ำเป็น 1 ในแผนงาน

จากทั้งโครงการ แบ่งออกเป็น 3 ตอน ประกอบด้วย “ตอนที่ 1” ช่วงถนนกาญจนาภิเษกตะวันตกถึงถนนราชพฤกษ์ จุดเริ่มต้นอยู่ที่ถนนกาญจนาภิเษกใกล้กับสถานีซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร (เดโป้) ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่) เพื่อเปลี่ยนถ่ายโหมดการเดินทางจากรถมาเป็นระบบราง จะก่อสร้างเป็นถนน 6

ช่องจราจร ระยะทาง 2 กม. และสะพาน 4 ช่องจราจร ข้ามถนนบางกรวย-ไทรน้อย คลองบางบัวทอง มาสิ้นสุดที่ถนนราชพฤกษ์ รวมระยะทาง 5 กม. เงินลงทุน 6,366 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 813 ล้านบาท และเวนคืนที่ดิน 5,553 ล้านบาท

“ตอนที่ 2” ช่วงถนนราชพฤกษ์ถึงถนนติวานนท์ จะเริ่มต้นที่ถนนราชพฤกษ์ ก่อสร้างเป็นสะพานข้ามถนนราชพฤกษ์ 4 ช่องจราจร ความยาว 600 เมตร จากนั้นจะเป็นถนน 6 ช่องจราจร และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา (สะพานสนามบินน้ำ) 6 ช่องจราจรบริเวณฝั่งตรงข้ามกระทรวงพาณิชย์

เมื่อข้ามแม่น้ำแล้วจะสร้างเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร โดยแนวเส้นทางจะไปตามแนวถนนสนามบินน้ำ พร้อมปรับปรุงและขยายถนนสนามบินน้ำและถนนนนทบุรี 1 จากแยกจุดตัดถนนติวานนท์ถึงสะพานนนทบุรี 1 จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร รวมระยะทาง 8 กม. เงินลงทุน 8,891 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 3,386 ล้านบาท และเวนคืนที่ดิน 5,505 ล้านบาท

และ “ตอนที่ 3” ช่วงถนนติวานนท์ถึงถนนวิภาวดีรังสิต เริ่มจากจุดสิ้นสุดตอนที่ 2 บนถนนติวานนท์ ก่อสร้างเป็นทางลอด 6 ช่องจราจร วิ่งตรงไปเชื่อมกับทางด่วนศรีรัช จะมีทางต่างระดับเชื่อมกับทางด่วน จากนั้นจะสร้างเป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจรไปตลอดเส้นทางจนถึงถนนวิภาวดีรังสิต จะมีถนนคู่ขนานด้านข้างฝั่งละ 2 ช่องจราจร เปิดพื้นที่แนวเส้นทางที่ตัดผ่าน และทางต่างระดับเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิต รวมระยะทาง 6 กม. เงินลงทุน 18,346 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 4,126 ล้านบาท เวนคืนที่ดิน 14,220 ล้านบาท

“ปัจจุบันกรมดำเนินการศึกษารายละเอียดแค่ตอนที่ 2 ส่วนที่เหลืออีก 2 ตอนยังไม่มีแผนจะศึกษา คงต้องดูความเป็นไปได้ของตอนที่ 2 ที่ผลการศึกษาจะออกมาในเร็ว ๆ นี้ก่อน รวมถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของโครงการ และงบประมาณที่จะนำมาใช้ก่อสร้างด้วย เพราะเงินลงทุนค่อนข้างสูง”

อย่างไรก็ตาม หากได้พัฒนาโครงการแบบเต็มรูปแบบ จะทำให้การเชื่อมต่อพื้นที่กรุงเทพฯโซนตะวันตกกับตะวันออกที่ยังขาดโครงข่ายที่จะมารองรับกับการขยายตัวของเมืองและแก้ไขปัญหาการจราจรที่นับวันทวีคูณมากยิ่งขึ้น