หวั่นโครงการล่าช้า “อาคม” เสนอทางเลือกบอร์ดอีอีซี เดินหน้าลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ไม่ต้องเดินรถแบบไร้รอยต่อ ใช้สถานี “มักกะสัน-ลาดกระบัง” เป็นจุดต่อเชื่อม เทงบฯ 102 ล้านให้เทศบาลเมืองพัทยาศึกษาสร้างโมโนเรลเสริมแกร่งท่องเที่ยว แก้รถติด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการระบบการคมนาคมขนส่งจะลงทุนในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี นอกจากอุโมงค์ทางลอดพัทยากลางแล้ว จะมีมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด ที่สร้างคู่ขนานกับถนนสุขุมวิท รวมถึงยังมีโครงการบรรจุไว้ในแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลกำหนดให้ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นพื้นที่พัฒนาโครงการ จะครอบคลุมถึงพื้นที่ อ.เมืองพัทยา ด้วย
“การพัฒนาอีอีซี นอกเหนือจากภาคอุตสาหกรรม การบิน ศูนย์ซ่อมอากาศยานแล้ว ยังมีเรื่องของการท่องเที่ยวด้วยที่รัฐบาลต้องการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศให้เป็นศูนย์กลางภูมิภาค”
นายอาคมกล่าวว่า สำหรับโครงการที่จะเข้ามายังเมืองพัทยา มีรถไฟทางคู่สายตะวันออกฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 193 กม. เงินลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งทางคณะกรรมการอีอีซีมีนโยบายให้เป็นรถไฟความเร็วสูงเชื่อมการเดินทาง 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ รองรับนักท่องเที่ยวจากดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ที่ถูกยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติอย่างเต็มรูปแบบ รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน 30 ล้านคน และ 60 ล้านคน ในอนาคต
“เมืองพัทยาเป็นจุดหนึ่งที่มีสถานีรถไฟความเร็วสูงจอดให้บริการ จะทำให้เกิดความสะดวกสบายต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติจากกรุงเทพฯที่ต้องการเดินทางไปฉะเชิงเทรา พัทยา ระยอง และจันทบุรี”
นายอาคมกล่าวว่า ล่าสุดได้หารือร่วมกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอีอีซี ถึงแนวทางการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หลังจากมีนโยบายให้รวมโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย พญาไท-สุวรรณภูมิ และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นโครงการเดียวกัน เพื่อให้การเดินทางแบบไร้รอยต่อ โดยมีผู้เดินรถรายเดียว ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ทั้งเงินลงทุนและรูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมโครงการ ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้เนื่องจากโครงการมีการออกแบบรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนการก่อสร้างไปยังสนามบินอู่ตะเภาและเชื่อมกับสนามบินสุวรรณภูมิ จะต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่มเติม โดยเตรียมจะเสนอรายงานอีไอเอภายในเดือน ต.ค.นี้ อาจจะใช้เวลาสักระยะหนึ่งกว่าจะได้รับการอนุมัติ ดังนั้นเพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้เร็ว และไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่ม
ล่าสุดกระทรวงจะเสนอแนวคิดให้เร่งรัดก่อสร้างโครงการตามความพร้อมเป็นรายโครงการ คือ เริ่มจากแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรออนุมัติอีไอเอ เช่นเดียวกับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ที่รออีไอเอ หากผ่านก็ดำเนินการต่อไป ปัจจุบันเดินหน้าโครงการแบบคู่ขนาน โดยเสนอโครงการไปยังคณะกรรมการ PPP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“จริง ๆ 3 สนามบินนั้น สนามบินที่จะต้องพึ่งกันคือ สุวรรณภูมิกับดอนเมือง เพราะมีการคอนเน็กต์ไฟล์กันอยู่ แต่ถ้าอู่ตะเภาพัฒนาเป็น 30 ล้านคน 60 ล้านคน ในอนาคตจะใหญ่กว่าดอนเมือง เพราะฉะนั้นอู่ตะเภาจะเป็นเรื่องของบินในประเทศและต่างประเทศ ฉะนั้นในเรื่องของการเชื่อมต่อตรงนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเชื่อมแบบไร้รอยต่อ แต่ว่ามีการต่อเชื่อมกันที่สถานีใดสถานีหนึ่งก็อาจจะทำได้ ไม่ว่ามักกะสันหรือลาดกระบัง แล้วเชื่อมเข้าสุวรรณภูมิ กำลังหารือกับฝ่ายเลขานุการอีอีซี ส่วนเงินลงทุนก็เท่าเดิมถ้าทำตามแนวคิดนี้ ทั้ง 2 โครงการก็เกือบ 2 แสนล้านบาท”
ด้าน พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ได้งบประมาณปี 2560 จำนวน 102 ล้านบาท จากคณะกรรมการอีอีซี เพื่อศึกษาความเหมาะสมโครงการลงทุนระบบรถไฟรางเดี่ยวหรือโมโนเรลในเมืองพัทยา เพื่อแก้ปัญหารถติดและรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอีอีซีด้วย จะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี จากนั้นถึงจะสรุปรูปแบบ วงเงิน และการลงทุนโครงการได้