การเมืองเรื่องค่าครองชีพ BTS-MRT “ตั๋วรายเที่ยว” โดนใจมนุษย์เงินเดือน

ความเห็น ค่าโดยสาร รถไฟฟ้า BTS MRT
แฟ้มภาพ

เพราะความสะดวกรวดเร็วของรถไฟฟ้าและเป็นโหมดการเดินทางแทบจะโหมดเดียว ที่ไม่ต้องทำให้คนทำงานย่านใจกลางเมืองต้องเผชิญกับปัญหารถติด

แต่เมื่อค่าเดินทางสวนทางกับรายได้ ลองฟังเสียงความต้องการผู้ใช้บริการ เพื่อที่รัฐบาลใหม่จะนำไปสังเคราะห์ก่อนที่รถไฟฟ้าสายใหม่จะเปิดให้บริการ เพื่อให้ตรงกับจริตวิถีคนกรุง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นประชาชนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าบริเวณ “สถานีเตาปูน” ซึ่งเป็นจุดเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง พบว่ามีความคิดเห็นแตกออกเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก มองว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าปัจจุบันแพงเกินไป การจะใช้บริการแต่ละครั้งต้องคิดอย่างถี่ถ้วน หากจุดหมายที่จะเดินทางไปมีรถตู้โดยสารผ่านก็จะเปลี่ยนไปใช้รถตู้ ซึ่งค่าโดยสารแต่ละครั้งอยู่ที่ 35 บาท/ครั้ง ขณะเดียวกัน บางคนมีความคิดเห็นว่าในแต่ละเดือนต้องกันค่าใช้จ่ายสำหรับรถไฟฟ้า โดยไม่รวมกับรถโดยสารโหมดอื่นไว้เฉพาะอย่างน้อย 15-20% ของรายได้ในแต่ละเดือน

อีกกลุ่มหนึ่งมองว่า ค่าโดยสารปัจจุบันเหมาะสมแล้ว เพราะแม้ว่าค่าโดยสารสูงสุดจะอยู่ที่ 70 บาท แต่สามารถเดินทางไปถึงใจกลางกรุงเทพฯได้เลย แถมใช้เวลาอย่างมากก็ประมาณ 1 ชม.เท่านั้น ส่วนรถตู้อาจจะมีราคาถูกกว่าก็จริง แต่ในชั่วโมงเร่งด่วนการนั่งรถตู้ก็เจอปัญหาจราจรติดขัดอยู่ดี ส่วนรถไฟฟ้าในชั่วโมงเร่งด่วนอาจจะเสียเวลาต่อแถวรอขบวนรถ 2-3 รอบ แต่หากเปรียบเทียบกับรถโดยสารโหมดอื่นแล้ว ก็ใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าอยู่ดี

“ตั๋วรายเที่ยว” โดนใจมนุษย์เงินเดือน

ด้าน “น้องแนน” ซึ่งพักอาศัยอยู่รามอินทรา ซอย 3 แต่ที่ทำงานอยู่ที่ย่านสาทร ทุกวันใช้บริการรถตู้ของคอนโดมิเนียมไปส่งที่สถานีหมอชิต เสียค่ารถตู้ 30 บาท/เที่ยว

“น้องแนน” บอกว่า ที่ทำงานสามารถเดินทางได้ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT แต่เลือกที่จะเดินทางด้วยบีทีเอส เนื่องจากมีการจัดแพ็กเกจจำนวนเที่ยวการเดินทางทั้งไปและกลับเฉลี่ยอยู่ที่ 54 บาท/เที่ยว ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดกว่าเดินทางรายเที่ยวของรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เพราะหากเดินทางโดย MRT ค่าใช้จ่ายประมาณ 86 บาท/เที่ยว

ถ้ารวมกับค่ารถตู้นั่งจากคอนโดฯด้วย ถือว่าค่าเดินทางสูง ตกวันละ 130-150 บาท ถ้าบีทีเอสมีจัดโปรโมชั่นได้ อยากให้ยกเลิกการกำหนดวัน เนื่องจากการใช้บัตรแบบจำกัดจำนวนเที่ยวต้องให้หมดภายใน 30 วัน ถ้าซื้อ 40 เที่ยว ราคาเฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท ถ้าซื้อ 25 เที่ยว ราคาเฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท จึงเลือกซื้อแบบ 25 เที่ยว เพราะกลัวจะใช้ไม่ทัน

เป็นมุมมองของผู้ใช้จริงที่สะท้อนถึง “BTS-MRT” หากลดค่าโดยสารให้ถูกลงกว่านี้ไม่ได้ น่าจะมีโปรโมชั่นดี ๆ มาช่วย “มนุษย์เงินเดือน” บรรเทาภาระทางอ้อมบ้าง !