“บิ๊กตู่” เร่งรถไฟส่งมอบพื้นที่ไฮสปีด3สนามบิน คาดเซ็นสัญญาซี.พี.กลางก.ค.นี้ “อู่ตะเภา-แหลมฉบัง”ยังไร้วี่แวว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 6/2562 มีมติรับทราบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดลอมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

@ลุ้น ครม.เคาะ EIA ไฮสปีด 3 สนามบิน

ขั้นตอนหลังจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะเจ้าของโครงการจะต้องสรุปข้อมูลในรายงาน EIA ทั้งหมด เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะเสนอให้มีการพิจารณาได้ หรือเร็วที่สุดประมาณสัปดาห์หน้า หลังจากนั้น กระบวนการลงนามในสัญญาน่าจะทำได้ประมาณ 2 สัปดาห์ หรือประมาณกลางเดือน ก.ค.นี้ หลัง ครม.เห็นชอบรายงาน EIA แล้ว

ส่วนการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) ในฐานะเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก พรุ่งนี้ (25 มิ.ย.) คณทำงานของ ร.ฟ.ท.จะสรุปการส่งมอบพื้นที่ในรายละเอียดได้ เพราะแต่เดิม ร.ฟ.ท.ทำเป็นแผนกว้างๆ ระบุเพียงปีที่พร้อมส่งมอบเท่านั้น กลุ่ม CPH จึงขอให้ ร.ฟ.ท.กลับไประบุให้ลงลึกขึ้น เช่น ระบุถึงเดือนที่สามารถส่งมอบได้, ส่งมอบได้เท่าไหร่, การได้รับมอบแต่ละพื้นที่มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เป็นต้น โดย ร.ฟ.ท.จะนำกลับมาทำรายละเอียดเพิ่มเติมมาให้ดังกล่าว

“นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ให้ความเห็นในที่ประชุม โดยอยากให้รถไฟสร้างเสร็จตามกำหนดเดิมคือปี 2566 การส่งมอบพื้นที่จึงต้องทำให้เร็วที่สุด หากล่าช้าจะส่งผลกับโครงการได้ เพราะโครงการนี้จะต้องสร้างเสร็จพร้อมๆ ไปกับโครงการสนามบินอู่ตะเภาด้วย”

@สรุปความเห็น มาบตาพุด 1 ก.ค.

นายคณิศกล่าวต่อว่าโครงการถัดมา โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 เงินลงทุน 47,900 ล้านบาท มีการนิคมอุตสากรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นเจ้าของโครงการ ที่ประชุมรับทราบผลการประชุม ครม. และผลการคัดเลือก ผลการเจรจา และให้กรรมการ กพอ.พิจารณาร่างสัญญา ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ทำความเห็นเสนอกลับมาในวันที่ 1 ก.ค.นี้

หลังจากนั้น จะเสนอร่างสัญญาดังกล่าวให้ ครม.พิจารณาประมาณสัปดาห์หน้า ส่วนรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว คาดว่าไม่จำเป็นต้องเสนอให้ กก.วล. และ ครม.เห็นชอบอีก ดังนั้นก็วางกำหนดการลงนามไว้ภายในเดือน ก.ค.นี้

ดังนั้น เท่ากับว่าตอนนี้สามารถผลักดันโครงการโคครงสร้างพื้นฐานของอีอีซีได้แล้ว 2 โครงการ รวมมูลค่า 271,900 ล้านบาท

@อู่ตะเภา-แหลมฉบัง รอศาลปกครอง

ขณะที่อีก 2 โครงการ คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก พื้นที่ 6,500 ไร่ เงินลงทุน 290,000 ล้านนบาท มีกองทัพเรือ (ทร.) เป็นเจ้าของโครงการ และโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ท่าเทียบเรือ F เงินลงทุน 84,361 ล้านบาท มีการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นเจ้าของโครงการ

พลเอกประยุทธ์ ในฐานะประธาน กพอ.ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของ กพอ. อย่างเป็นทางการ มีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้จะรับพิจารณาทั้ง 2 โครงการข้างต้นที่ยังมีการฟ้องร้องกันอยู่ ยืนยันคณะอนุกรรมการชุดนี้ไม่เอื้อประโยชน์ให้เอกชนที่ยื่นอุทธรณ์แน่นอน จะใช้เวลาพิจารณาทั้ง 2 โครการ 60 วัน นับแต่วันที่เอกชนยื่นอุทธรณ์มา แต่ขอเช็กวันที่แน่นอนอีกครั้ง

สำหรับสถานะล่าสุดของทั้ง 2 โครงการ สนามบินอู่ตะเภา ยังอยู่ในกระบวนการซองที่ 1 (คุณสมบัติทั่วไป) คาดว่าจะพิจารณาเสร็จภายในสัปดาห์หน้า ส่วนซองที่ 2 (เทคนิค) และ 3 (การเงิน) ต้องรอศาลปกครองมีคำพิพากษาก่อน เพราะกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันมิตร (กลุ่มซี.พี.) เอกชนที่ถูก ทร.ปรับแพ้ ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้มีคำสั่งเกี่ยวกับการเปิดซองทั้ง 2 ซองดังกล่าว จึงอาจจะต้องรอศาลปกครองตัดสินก่อน

แต่ในทางหนึ่ง เมื่อคณะอนุกรรมการอุทธรณ์มีคำสั่งใดๆ ออกมาก่อนที่ศาลจะตัดสิน คณะกรรมการคัดเลือกก็อาจจะดำเนินการเปิดซอง 2-3 ของเอกชนรายอื่นไปก่อนได้ ส่วนของกลุ่ม ซี.พี.ก็ต้องรอให้ศาลมีคำตัดสินก่อน จึงจะนำมาพิจารณาเปิดซองได้ ทั้งนี้ แม้จะเปิดซอง 2-3 ของเอกชนได้ แต่ก็ยังประกาศผลไม่ได้จนกว่าศาลจะมีคำตัดสินออกมา

“หากศาลตัดสินให้เปิดซองของ ซี.พี. คณะกรรมการคัดเลือกก็จะทำการเปิดซองแล้วนำมาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของเอกชนรายอื่น แล้วจึงจะประกาศผลการพิจารณาต่อไป”

ส่วนท่าเรือแหลมฉบัง หลังจากที่ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี แต่ศาลได้ให้คำแนะนำว่า ควรรอให้คณะอนุกรรมการอุทธรณ์ตัดสินก่อน ศาลจะพิจารณาต่อให้ ซึ่งเหลือเพียงขั้นตอนเดียว ส่วนกระบวนการคัดเลือกเอกชน เหลือการเจรจากับเอกชนที่ได้รับคัดเลือกเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ก็พักไว้ก่อน เพราะต้องศาลปกครองเช่นกัน

“ผมไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ศาลจะใช้เวลาพิจารณาตัดสินนานแค่ไหน ประเมินคร่าวๆ การลงนามของอู่ตะเภาและแหลมฉบังอาจจะล่าช้าออกไปอย่างน้อย 2 เดือน เพราะต้องรอกระบวนการอุทธรณ์และศาลปกครองตัดสินก่อน”