วัดใจ “ครม.บิ๊กตู่” ปิดดีลสัมปทานทางด่วน “ช.การช่าง” ขยายสัญญา 30 ปี

วัดใจ “ครม.บิ๊กตู่” ปิดดีลสัมปทานทางด่วน “ช.การช่าง” ขยายสัญญา 30 ปี 3 โครงการ แลกปิดฉากข้อพิพาทมูลค่า 5.9 หมื่นล้าน บอร์ด กทพ.ประชุม 27 มิ.ย. พิจารณาร่างสัญญา หลังอัยการท้วงติง 4-5 ประเด็น ประธานสหภาพโต้ลาออก ยันทำทุกอย่างเพื่อองค์กร หวั่นบานปลายหลังดึงการเมืองเข้ามาพัวพัน

นายสุทธิศักดิ์ วรรธนกิจ รองผู้ว่าฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 27 มิ.ย. คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.จะประชุมรับทราบหลังอัยการสูงสุดได้พิจารณาร่างสัญญาที่ร่างเพิ่มเติมจากสัญญาเดิมเสร็จแล้ว กรณีขยายสัญญา 30 ปี ใน 3 สัญญา ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บริษัทลูกของ ช.การช่าง และบริษัทแม่ของ บจ.ทางด่วนเหนือ (NECL) เพื่อยุติข้อพิพาททางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ กทพ.จ่ายชดเชยให้ NECL วงเงิน 4,318 ล้านบาท และยุติข้อพิพาทที่มีต่อกันทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 5.9 หมื่นล้านบาท

“บอร์ด กทพ.จะประชุม 27 มิ.ย.นี้ ก่อนส่งต่อคมนาคมและคณะรัฐมนตรีอนุมัติ คงไม่นำร่างสัญญากลับมาทบทวนตามข้อเสนอสหภาพ กทพ. เพราะร่างสัญญาเดินไปตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว ก่อนจะเสนออัยการสูงสุดตรวจได้นำข้อสังเกตของแต่ละฝ่าย รวมถึงของสหภาพฯแนบไปกับร่างสัญญาแล้ว หากเสนอไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่กังวล เพราะข้อมูลเสนอให้รัฐบาลใหม่ก็เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน สุดแล้วแต่นโยบาย”

ผลเจรจาที่ผ่านการอนุมัติจากบอร์ด จะขยายสัมปทาน 30 ปี ได้แก่ 1.ทางด่วนขั้นที่ 2 จากเดิมสิ้นสุด มี.ค. 2563 เป็น มี.ค. 2593 2.ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี จากเดิม เม.ย. 2570 เป็น เม.ย. 2600 และ 3.ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด จากเดิม ก.ย.2569 เป็น ก.ย. 2599 ปรับค่าผ่านทางแบบคงที่ในอัตรา 10 บาท ทุก 10 ปี กทพ.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง 60% และ BEM จะลงทุน 31,500 ล้านบาท สร้างและปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นทางด่วน 2 ชั้น จากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กม. แก้รถติด

แหล่งข่าวจาก กทพ.กล่าวว่า อัยการสูงสุดได้ส่งร่างกลับมาแล้ว มีข้อสังเกต 4-5 ข้อ แต่ไม่เป็นนัยยะสำคัญ อาทิ ถามย้ำว่าเป็นการแก้ไขในสัญญาเดิมใช่หรือไม่ การเก็บค่าผ่านทาง 10 ปี 10 บาท จะไม่กระทบต่อประชาชนใช้หรือไม่ ก็ได้ชี้แจงไปหมดแล้ว และการดำเนินการตอนนี้เดินหน้าไปไกลแล้ว เมื่ออัยการสูงสุดส่งร่างกลับมาจะเสนอให้ ครม.พิจารณา ซึ่งผู้ที่จะตัดสินใจว่าจะต่อสัญญาให้ BEM หรือไม่อยู่ที่ ครม.เท่านั้น คาดว่าจะเร่งพิจารณาให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานบอร์ด กทพ.กล่าวว่า การประชุมบอร์ด กทพ.วันที่ 27 มิ.ย.นี้ แค่รับทราบข้อสังเกตของอัยการสูงสุดเท่านั้นไม่มีการพิจารณาอะไรเพิ่มเติม ซึ่งสัญญาพ้นอำนาจหน้าที่ของบอร์ดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา และไปอยู่ที่กระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.แล้ว อยู่ที่การตัดสินใจของ ครม.จะเห็นด้วยกับสิ่งได้เจรจามาหรือไม่ ยืนยันว่าสิ่งที่เจรจาเป็นประโยชน์ที่สุด ตอนนี้ดอกเบี้ยจากการแพ้คดีวันละ 800,000 บาท นับจากศาลตัดสินเดือน ต.ค. ถึงปัจจุบัน 7-8 เดือนแล้ว รวมเป็นมูลค่าร่วม 200 ล้านบาทแล้ว

นายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพ กทพ. กล่าวว่า ไม่เป็นความจริงกรณีมีกระแสข่าวว่าถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานสหภาพ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา เพราะมีประเด็นขัดแย้งเรื่องจุดยืนการต่อสู้การขยายสัมปทานทางด่วนให้ BEM 30 ปี เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาท โดยขอให้แยกเรื่องนี้ 2 ประเด็น คือ 1.ที่ประชุมวันที่ 11 มิ.ย. หารือเกี่ยวกับท่าทีของสหภาพ เกี่ยวกับการแก้ไขข้อพิพาท ระหว่าง กทพ. กับ BEM จริง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับองค์กร และพนักงาน โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการและค่าตอบแทนที่เหมาะสม

ที่ประชุมมีความเห็นแตกกันเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกเห็นว่าควรเจรจาเพื่อยุติปัญหาที่ค้างมาตามที่ ครม. มีมติเร่งรัด และเพื่อหาทางออกให้กับองค์กร ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยจำนวนมหาศาลตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหากับ กทพ. ด้วยแก้ปัญหาโดยการขยายสัมปทาน และยุติทุกคดีความที่ฟ้องร้องกัน และฝ่ายรัฐก็ไม่ต้องจ่ายเงินออก ส่วนฝ่ายเอกชนก็ต้องยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขตามกรอบเจรจา ขณะที่อีกฝ่ายให้ต่อสู้คดีต่อ จ่ายเงินชดเชยตามที่ศาลสั่งเป็นคดีๆ ไป และให้ กทพ.ดำเนินกิจการทางด่วนด้วยตนเอง อาจจะส่งผลในเรื่องประสิทธิภาพและกระทบสวัสดิการของพนักงานลูกจ้าง โดยเฉพาะฝ่ายปฏิบัติที่แท้จริง จึงมีความเห็นแตกต่างกันมาก จนเริ่มนำไปสู่ความขัดแย้งกันภายในองค์กร ตนในฐานะประธาน จึงเสนอว่าจะลาออกจากตำแหน่งเพื่อยุติความขัดแย้งและปิดประชุม ยังไม่มีมติใดๆ ออกมา แต่กลับพยายามปล่อยข่าวว่าลงมติปลดตนออกจากตำแหน่งทั้งที่จริงคือการลาออก“

ทั้งนี้ข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และ BEM ศาลปกครองสั่งให้ กทพ.จ่ายชดเชยค่าผิดสัญญาในคดีแรกกว่า 4 พันล้านบาท และยังมีอีกหลายคดีที่เตรียมขึ้นสู่ศาล จึงเห็นว่าควรยุติปัญหานี้เร็วที่สุด ส่วนวิธีการ เป็นเรื่องที่ผู้ว่า กทพ.และบอร์ดจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ตอบคำถามกับสังคมให้ได้ว่าจะส่งผลอะไรกับประชาชน องค์กร และพนักงานด้วย ไม่ให้องค์กรเสียเปรียบ เกิดความเสียหายจนไม่สามารถเยียวยาได้

“กรณีที่สหภาพ กทพ. ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบการเจรจาตามแนวทางขยายสัมปทาน เป็นเรื่องที่ดีที่จะต้องทำอย่างรอบคอบ ไม่ให้รัฐเสียเปรียบ แต่น่าห่วงคือพยายามนำการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว หากจำได้องค์กร กทพ.ที่มีปัญหามากมาย ก็เพราะมีการเมืองเข้ามายุ่ง อยากให้คนใน กทพ.พิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ตกเป็นเหยื่อของคนที่ต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” นายชาญชัยกล่าว