“กรุงเทพธนาคม”ยัน”ทรู”ไม่ผูกขาดเช่า 30 ปีท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน การันตีค่าเช่าถูกกว่า TOT

เมื่อเวลา 10.30 น. ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำโดยนายกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ และนายเอกนรินทร์ วาสนาส่ง รองกรรมการผู้อำนวยการสายยุทธศาสตร์และพัฒนาเมือง ร่วมแถลงข่าวกรณีโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของ กทม.

นายกิตติศักดิ์เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวดำเนินงานตามนโยบายของ กทม. และที่ให้เคทีทำเพราะเคทีมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากกว่า สำหรับแผนงานสำคัญๆ มี 2 แผนงาน คือ 1.การหาผู้รับเหมางานวางท่อ (Engineering-Procurement-Construction : EPC) เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาได้ผู้รับเหมาครบทั้ง 4 โซน ระยะทางรวม 2,450 กม. มูลค่าโครงการ 20,000 ล้านบาทแล้ว แบ่งเป็นโซนที่ 1 กรุงเทพเหนือ 16 เขต 620 กม. มีกิจการร่วมค้า เอสซีแอล, เอสทีซี และฟอสส์เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก

โซนที่ 2 กรุงเทพตะวันออก 14 เขต ระยะทาง 605 กม. มีกิจการร่วมค้า เอดับบลิวดี เป็นผู้ได้รับ​การคัดเลือก โซนที่ 3 กรุงธนเหนือ 15 เขต ระยะทาง 605 กม. มีกิจการร่วมค้า จีเคอี แอนด์ เอฟอีซี เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก และโซนที่ 4 กรุงธนใต้ 18 เขต ระยะทาง 620 กม. มีกิจการร่วมค้า เอสซีแอล, เอสทีซี และฟอสส์ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก

“การหาเอกชนมาดำเนินการไม่ได้ปิดกั้นรายอื่นๆ ด้วย เพราะได้แบ่งความจุออกไปแล้ว 80% ให้กับเอกชนที่ได้รับคัดเลือก ส่วนอีก 20% จะเปิดไว้รองรับรายอื่นๆ เป็นรายย่อย ซึ่งการคิดราคาไม่ได้คิดกำไร แต่เป็นการคิดจากต้นทุนที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดโดยอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของ กสทช. ทั้งนี้ยังเป็นการสนองนโยบายของรัฐที่สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันได้ โดยการศึกษาคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการจริงไม่เกิน 10 ราย โดย 1 เส้นรองรับได้มากถึง 216 แกนจึงรองรับได้อย่างเพียงพอ ส่วนการก่อสร้างจะใช้เทคนิคแบบ HDD (ขุดเจาะลากท่อ)​ ทำให้ประชาชนที่ใช้ทางเท้าถูกกระทบน้อยที่สุด”

ด้านนายเอกรินทร์กล่าวว่า ในส่วนของกระแสข่าวที่ว่า บจ.ทรูอินเทอร์เน็ต​ คอร์ปอเรชั่น ได้สัมปทานบริหารท่อร้อยสาย 30 ปีก็ไม่เป็นความจริง เพราะทรูเป็นเพียงผู้ใช้บริการท่อเท่านั้น ตัวท่อและทรัพย์สินอื่นเป็นของเคทีเหมือนเดิม ส่วนระยะเวลา 30 ปี เป็นระยะเวลาที่ให้ทรูใช้ท่อนี้ได้ ไม่ได้ยกให้บริหารแต่อย่างใด

โดยการหาตัวเอกชนผู้จะมาใช้บริการนั้น เมื่อวางท่อ EPC แล้ว ก็ต้องเปิดประกวดราคาหาผู้ใช้บริการความจุส่วนใหญ่ โดยกระบวนการสรรหาผู้ใช้บริการหลักนั้นได้เปิดให้ลงชื่อแสดงเจตจำนงในการยื่นข้อเสนอใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม จำนวน 9 ราย

อีกทั้งเคทียังได้ส่งหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จำนวน 16 ราย รวมเป็น 25 ราย ปรากฎว่ามีผู้รับเอกสารเชิญชวน 16 ราย แต่มีเพียง 1 รายที่ยื่นข้อเสนอ คือ บจ.ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น และผ่านเกณฑ์คัดเลือกตามมาตรฐานที่กำหนดเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา

“ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเรื่องราคา ยังไม่ได้ลงนามสัญญาใดๆ ยืนยันว่ารูปแบบดำเนินโครงการไม่เข้าหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 และเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ไม่ได้มีการให้สัมปทาน หรือมีการโอนสิทธิ์แต่อย่างใด”

สำหรับผู้ที่จะมาเช่าช่วงต่อกับ บจ.ทรู ก็สามารถรวมกลุ่ม​มาได้ ไม่จำเป็นต้องมารายเดียว ส่วนค่าเช่าท่อ ยังไม่ได้ประกาศออกมา เพราะอยู่ระหว่างหารือกับ กสทช.เรื่องการกำหนดราคาที่เหมาะสม ทางทรูจะต้องจัดเก็บตามอัตราค่าเช่าที่ กสทช.กับเคทีจะประกาศออกมา

“ยืนยันว่าจะไม่มีการผูกขาดอย่างแน่นอน เพราะการดำเนินงานเป็นการทำตามกฎหมายของ กสทช.เป็นหลักอยู่แล้ว อีกทั้งท่อเดิมของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) มีใช้งานอยู่แล้ว กทม.ไม่ไปยุ่ง สามารถใช้งานต่อได้ แต่ไม่ให้ขยายโครงข่ายเท่านั้น”

ส่วนกรณีตัวเลขค่าบริการสูงถึง 21,000-27,000 บาท/ซับดัก/กม./เดือนนั้น นายเอกรินทร์กล่าวว่า ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการแต่อย่างใด เนื่องจากการกำหนดราคาขึ้นอยู่กับ กสทช.


“เคทีและผู้ใช้บริการหลักไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการรายอื่นเกินกว่าอัตราที่ กสทช. กำกับและกำหนดได้ ดังนั้น ประเด็นราคาค่าบริการโครงข่ายท่อร้อยสายของเคทีจะแพงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นถึง 3 เท่านั้นจึงไม่เป็นความจริง”