ประธานสร.กทพ.โต้ถูกปลด แจงลาออกเอง

ภาพ:มติชนออนไลน์

นายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) เปิดเผยกรณีมีกระแสข่าวว่า ตนถูกที่ประชุม สร.กทพ.ปลดออกจากตำแหน่งระหว่างการประชุม สร.กทพ. เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีประเด็นความขัดแย้งเรื่องจุดยืนการต่อสู้การขยายสัมปทานทางด่วนของบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ไปอีก 30 ปี เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทในการจ่ายค่าชดเชยระหว่าง กทพ.กับ BEM ว่า ขอชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนและไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ขอให้แยกเรื่องนี้เป็น 2 ประเด็น 1.การประชุมวันที่ 11 มิ.ย.นั้น ที่ประชุมมีการหารือเกี่ยวกับท่าทีของ สร.กทพ. เกี่ยวกับการแก้ไขข้อพิพาท ระหว่าง กทพ.กับ BEM จริง เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับองค์กรและพนักงาน โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการและค่าตอบแทนที่เหมาะสม

โดยที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกัน 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกเห็นว่าควรเจรจาเพื่อยุติปัญหาที่ค้างมาตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเร่งรัด เพื่อหาทางออกให้องค์กรไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยจำนวนมหาศาล ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหากับ กทพ.และพนักงาน โดยขยายสัมปทาน และจบสิ้นทุกคดีความที่ฟ้องร้องกัน และฝ่ายรัฐไม่ต้องจ่ายเงินออก ส่วนฝ่ายเอกชนก็ต้องยอมปฏิบัติตามเงื่อนไข แต่อีกฝ่ายเห็นว่าควรต่อสู้คดีต่อ ให้จ่ายเงินชดเชยตามที่ศาลสั่งเป็นคดี ๆ ไป และให้ กทพ.ดำเนินกิจการทางด่วนด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะส่งผลเรื่องประสิทธิภาพและกระทบสวัสดิการพนักงานลูกจ้าง

การประชุมมีความเห็นแตกต่างกันมาก จนเริ่มนำไปสู่ความขัดแย้งกันภายในองค์กร ตนในฐานะประธาน สร.กทพ. และประธานที่ประชุม จึงเสนอว่าจะลาออกจากตำแหน่งเพื่อยุติความขัดแย้ง รวมทั้งปิดการประชุม โดยขั้นตอนตามข้อกำหนดของ สร.กทพ. นั่นก็คือนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการ สร.กทพ. เพื่อรับทราบมติดังกล่าว ก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อ ๆ ไป เท่ากับว่าการประชุมสิ้นสุดลงแล้ว และไม่ได้มีมติใด ๆ ออกมาเพิ่มเติมอีก แต่กลับเป็นว่ามีการพยายามปล่อยข่าวว่าที่ประชุมลงมติปลดตนออกจากตำแหน่ง ทั้งที่จริง ๆ แล้วคือการลาออก เป็นการปล่อยข่าวที่เป็นเท็จทำให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง

นายชาญชัยกล่าวว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ ตนได้ทำเรื่องไปถึงกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้ตรวจสอบว่าการประชุม สร.กทพ.ดังกล่าว ที่อ้างว่ามีมติปลดตนออกจากตำแหน่งนั้น เข้าข่ายเป็นมติที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการ ซึ่งหากที่มาไม่ถูกต้อง ย่อมไม่มีผลใด ๆ ในทางปฏิบัติ

อีกประเด็นคือเรื่องข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และ BEM ซึ่งศาลปกครองสั่งให้ กทพ.จ่ายชดเชยค่าผิดสัญญาในคดีแรกกว่า 4 พันล้านบาท และมีอีกหลายคดีที่เตรียมขึ้นสู่ศาล จึงเห็นว่าควรยุติปัญหานี้ให้เร็วที่สุด ไม่ให้กระทบองค์กรและพนักงานในระยะยาว ผู้ว่าการ กทพ.และบอร์ดต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

สำหรับกรณีที่ สร.กทพ.ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบการเจรจาตามแนวทางขยายสัมปทาน เป็นเรื่องที่ดีไม่ให้ฝ่ายรัฐเสียเปรียบ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการพยายามนำการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องข้อพิพาทดังกล่าว เพราะองค์กร กทพ.มีปัญหามากมายก็เพราะมีการเมืองเข้ามายุ่ง