รออีก10วัน! บอร์ดกทพ.อนุมัติผลประมูลด่วน “พระราม3” ไม่ทบทวน “สัมปทานBEM” โยนคมนาคม-ครม.ตัดสิน

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด)​ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ​(กทพ.)​ เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด กทพ.วันที่ 27 มิ.ย. มีมติสำคัญใน 2 เรื่อง เรื่องแรก ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการผลการประมูลโครงการทางด่วนพระราม 3 -​ ดาวคะนอง ทั้ง 4 สัญญา วงเงิน 29,154.230 ล้านบาท

ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ระยะทาง 6.4 กม. เป็นทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ราคากลาง 6,979 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า CNA ประกอบด้วย บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เสนอราคาต่ำสุด 5,897 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 ระยะทาง 5.3 กม. เป็นทางยกระดับจากเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ราคากลาง 7,241 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีทีบี (ไชน่า ฮาร์เบอร์ -ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง) เสนอต่ำสุด 6,440 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 ระยะทาง 5 กม.ทางยกระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ราคากลาง 6,990 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ประกอบด้วย บจ.China Railway 11 th Bureau Group Corporaton, บจ.ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง และ บจ.บุญชัยพาณิชย์ (1979) เสนอต่ำสุด 6,098 ล้านบาท

และสัญญาที่ 4 งานก่อสร้างสะพานขึงข้ามแม่น้ำคู่ขนานสะพานพระราม 9 เชื่อมกับทางด่วนปัจจุบัน ราคากลาง 7,943 ล้านบาท มี บมจ.ช.การช่าง เสนอราคาต่ำสุด 6,636 ล้านบาท

“แต่ให้เวลา 10 วัน ไปดูเกี่ยวกับกรณีรัฐวิสาหกิจต่างประเทศเข้ามาประมูลงาน หากเกิดข้อพิพาทจะสามารถเอาความทางกฎหมายได้หรือไม่ เพราะผู้ที่ประมูล 3 สัญญา เป็นรัฐวิสาหกิจจีน ซึ่งครั้งนี้มาเป็นแกนนำที่เข้าประมูล จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อเคลียร์ปัญหานี้ให้จบก่อน คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน หากไม่มีปัญหา​ติดค้างก็จะดำเนินการพิจารณาประกาศรายชื่อเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละสัญญาต่อไป ส่วนจะลงนามเมื่อไหร่ ต้องรอการเจรจาในรายละเอียดก่อน”

ขณะที่การต่อสัมปทานทางด่วนแลกกับข้อพิพาทกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)​ จริงๆ แล้วพ้นจากบอร์ดไปตั้งแต่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ จะเสนอให้ ครม.อนุมัติเมื่อไหร่ ไม่ทราบ เพราะเป็นอำนาจของกระทรวงและ ครม. หากเห็นชอบแล้ว ก็ต้องมาคุยกับ BEM ในรายละเอียดต่ออีกหลายข้อ

ส่วนที่สหภาพฯขอให้ดึงเรื่องกลับมา เพราะยังมีเรื่องของมาตรฐานการลงบันทึกทางบัญชีนั้น ก็จะมีการนัดหมายกับสำนักงานตรวจเงิน​แผ่นดิน ​(สตง.)​ เพื่อไปหารือร่วมกันที่สภาวิชาชีพบัญชีในสัปดาห์หน้า และทำข้อมูลเพิ่มไปในภายหลัง ไม่จำเป็นต้องดึงเรื่องกลับ ส่วนข้อสังเกตจากอัยการสูงสุดประมาณ 6-7 ข้อก็ได้รับเอกสารจากอัยการฯแล้ว ก็จะทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์และตอบคำถามให้ได้ทุกข้อก่อนเซ็นสัญญา โดยจะอยู่ในลักษณะเอกสารแนบท้ายสัญญา”

ด้านนายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รักษาการผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาไม่มีผลต่อโครงการ ซึ่ง กทพ.สามารถไปชี้แจงข้อเท็จจริงได้ เมื่อถึงจังหวะเวลานั้นๆ หน่วยงานใดต้องการข้อมูล ก็ไปชี้แจงได้ และเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่สามารถทำได้

ทั้งนี้การต่อขยายสัมปทาน 30 ปี ใน 3 โครงการ ได้แก่ ทางด่วนขั้นที่ 2 ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดีและทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ในความเป็นจริงเป็นการต่อ 2 ระยะ ในระยะแรก 15 ปี เพื่อยุติข้อพิพาททั้งหมด และระยะที่ 2 อีก 15 ปี เพื่อเป็นการแลกกับสิ่งที่ BEM จะลงทุน 31,500 ล้านบาท ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงประชาชื่น-อโศก เพื่อแก้การจราจร


“หาก ครม.อนุมัติจะเซ็นสัญญาเฉพาะ 15 ปีแรกก่อน นับจากวันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ส่วนอีก 15 ปีจะเกิดขึ้นใน 2 ปี เมื่อโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ผ่านการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้ว” นายสุทธิศักดิ์กล่าว