“อีอีซี” อัดฉีด200ล้านให้รถไฟรื้อบุกรุก เคลียร์รางไฮสปีดเร่งเซ็นสัญญาก.ค.นี้ ตีตกอุทธรณ์ซี.พี.อู่ตะเภารอศาลตัดสิน

แฟ้มภาพประกอบข่าว

นายคณิศ แสงสุพรรณ​ เลขาธิการ​คณะกรรมการ​นโยบาย​การพัฒนา​ระเบียง​เศรษฐกิจ​พิเศษ​ภาค​ตะวันออก​ (อีอีซี)​ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) วันที่ 1 ก.ค.2562 มีมติใน 2 โครงการสำคัญ ได้แก่

@ตีตกอุทธรณ์ ซี.พี.

1. ที่ประชุม กพอ.มีมติไม่รับพิจารณาข้อเสนอกล่องที่ 6/10 และกล่องที่ 9/10 ของกลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร (กลุ่มซี.พี.) ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 290,000 ล้านบาท โดยเป็นการเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ที่มีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน โดยเห็นชอบว่าการส่งเอกสารดังกล่าว เป็นการส่งเอกสารที่เกินกำหนดเวลาปิดรับซอง 15.00 น. จริง เป็นการยึดตามหลักเกณฑ์ที่ระบุในเอกสารเชิญชวนเอกสารร่วมลงทุน (RFP)

หลังจากนี้ กระบวนการพิจารณาซองคุณสมบัติต่างๆ ของเอกชนอีก 2 ราย คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS นำโดย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และ บมจ.การบินกรุงเทพ ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ กับกลุ่มแกรนด์คอร์โซเตียม นำโดย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ ยังเดินหน้าต่อไป

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไปอยู่ หลังจากนี้จะเป็นการเปิดพิจารณาซองที่ 2 คุณสมบัติด้านเทคนิคของทั้ง 2 กลุ่มต่อ โดยกระบวนการพิจารณาจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์จึงจะแล้วเสร็จ มีเกณฑ์คะแนนคร่าวๆ คือ ผู้ที่จะผ่านการพิจารณาซองที่ 2 ต้องมีคะแนนรวมเกิน 80% ขึ้นไป จึงจะดำเนินการเปิดซองทีี 3 คุณสมบัติด้านการเงินต่อได้

@รอศาลปกครองพิพากษา

แม้จะสามารถเปิดซองที่ 2-3 ของทั้ง 2 กลุ่มมาพิจารณาได้ แต่การประกาศผลใดๆ ยังไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากยังมีคดีที่กลุ่ม ซี.พี.ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลจะเริ่มพิจารณาหลังจากบอร์ดอีอีซีมีมติเกี่ยวกับการอุทธรณ์คำสั่งแล้ว โดยให้คำตอบไม่ได้ว่าศาลปกครองจะใช้เวลาพิจารณาานเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นขอบเขตอำนาจของศาล

“ที่ช้า ไม่ได้มีสาเหตุมาจากรัฐ แต่เป็นความไม่พร้อมของเอกชนเอง แต่อย่างไรก็ตามจะต้องรอกระบวนการของศาลปกครองก่อนว่า จะมีคำสั่งออกมาอย่างไร เพราะมีผลกับไทม์ไลน์ของโครงการ แต่ในระหว่างที่รอ กองทัพเรือในฐานะเจ้าของโครงการจะมีการประชุมเกี่ยวกับโครงการนี้ในวันพรุ่งนี้ เพื่อเร่งรัดการทำงาน โดยวางกรอบไว้ว่า การคัดเลือกเอกชนจะต้องจบภายใน 1 เดือนนับจากนี้” นายคณิศระบุ

ส่วนการอุทธรณ์โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ท่าเทียบเรือ F เงินลงทุน 84,361 ล้านบาท บอร์ดอีอีซีให้คณะอนุกรรมการฯกลับไปรวบรวมข้อมูลมาใหม่ เพราะเห็นว่าข้อมูลที่รายงานมายังไม่ชัดเจน ส่วนเป็นเรื่องใดนั้น ไม่สามารถเปิดเผยได้

@ไฟเขียวงบเคลียร์ผู้บุกรุก 200 ล้าน

นอกจากนี้ นายคณิศยังกล่าวอีกว่า ความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ที่มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (กลุ่ม CPH) เป็นเอกชนที่ได้รับคัดเลือกนั้น

ล่าสุดบอร์ดอีอีซีมีมติอนุมัติกรอบวงเงินสำหรับดำเนินการเรื่องผู้บุกรุก ส่วนการส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้าง มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ 82% เหลืออีก 18% ที่ยังติดอุปสรรคการจัดการเรื่องผู้บุกรุก เบื้องต้น วางกรอบการลงนามในสัญญาภายในเดือน ก.ค.นี้

ด้านนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะประธธานคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ากรอบงบ 200 ล้านบาทที่ได้รับจัดสรรมาในวันนี้ เป็นการขอเนื่องจากที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ยังไม่เคยขอรับการจัดสรรสำหรับการดำเนินการในส่วนของการจัดการพื้นที่บุกรุกมาก่อน สำหรับวงเงินนี้จะนำไปใช้จ่ายในเคลียร์ปัญหาผู้บุกรุกซึ่งเกี่ยวพันกับการส่งมอบพื้นที่ เช่น จ่ายค่าเยียวยา หรือค่าดำเนินการสำหรับเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

ส่วนการส่งมอบพื้นที่สำหรับการก่อสร้าง ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยหารือกัน ในสัปดาห์หน้าจะมีการนัดประชุมกับผู้รับเหมาของ CPH ในประเด็นนี้อีกครั้ง แต่ยังไม่ระบุวันและเวลาที่เหมาะสม พร้อมกันนี้ ขอร้องสื่ออย่าคาดคั้นเรื่องราวในรายละเอียดมากนัก เพราะทุกอย่างกำลังดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งมีความละเอียดอ่อน