เปิดหน้าไพ่ “BEM” สายสีน้ำเงิน ยกสัญญารถไฟฟ้าใต้ดินตีกัน “สายสีเหลือง”

เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย เมื่อ “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำหนังสือถึง “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย”

หลังเปิดทางให้กิจการร่วมค้า BSR (บีทีเอส-ซิโน-ไทยฯ-ราชบุรีโฮลดิ้ง) ลงทุนส่วนต่อขยายสายสีเหลืองจากแยกรัชดา-ลาดพร้าวไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

โดย BEM มองว่า จะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารสายสีน้ำเงินปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 3 แสนเที่ยวคนต่อวัน หากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารเปลี่ยนไป ไม่ต้องมาต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน สามารถนั่งสายสีเหลืองต่อบีทีเอสเข้าเมืองไปได้ทันที

นับเป็นจุดอ่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นเรื่องอนาคตที่ไม่มีใครหยั่งรู้ แต่ก็ต้องหยิบนำมาสู่วงจรการเจรจาอย่างเลี่ยงไม่ได้

“ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. วันที่ 28 มิ.ย. 2562 ได้อนุมัติผลเจรจาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่กลุ่มบีทีเอสจะลงทุนจากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. วงเงิน 3,379 ล้านบาท โดย รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ตามผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นตลอด 30 ปี ตามสัญญาหลัก หากเกิน 30% จะได้รับ 20% เกิน 50% จะได้รับ 40%

ส่วนต่อขยายสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่กลุ่มบีทีเอสเสนอการลงทุน ระยะทาง 2.6 กม. วงเงิน 3,779 ล้านบาท บอร์ดยังไม่อนุมัติให้ รฟม. บีทีเอส และ BEM ไปพิจารณาร่วมกันถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กรณีที่ BEM มีหนังสือมายัง รฟม.ว่า ส่วนต่อขยายจะกระทบต่อผู้โดยสารสายสีน้ำเงิน เนื่องจากคนที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะไปเชื่อมสายสีเขียวโดยที่ไม่มาเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สถานีลาดพร้าว

“ภาพรวมคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีรถไฟฟ้าสายใหม่มาเชื่อมจะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จะเกื้อหนุนกันและกันมากกว่า แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ จะทำยังไง เพราะเป็นเพียงการคาดการณ์ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ บอร์ดให้ไปดูแนวทางแก้ปัญหาให้ชัดเจน ป้องกันการเกิดข้อพิพาท เหมือนกรณีทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่เอกชนฟ้องรัฐไปสร้างทางแข่งขัน จะเร่งหาข้อยุติโดยเร็ว ก่อนเสนอบอร์ดพิจารณาครั้งถัดไป ส่วนต่อขยายสายสีชมพูจากนี้จะเสนอให้คณะกรรมการมาตรา 43 พิจารณาแล้วเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป ไม่จำเป็นต้องรอสายสีเหลืองก็ได้”

แหล่งข่าวจาก รฟม. กล่าวว่า ทางบอร์ดมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้โดยสารอาจจะลดลงบ้าง แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า จะไม่มีข้อพิพาทค่าชดเชยเกิดขึ้น จึงให้ รฟม.ไปเจรจากับบีทีเอสและ BEM ให้เข้าใจตรงกัน ซึ่ง รฟม.ต้องกลับไปดูสัญญาสัมปทานสายสีน้ำเงิน ซึ่งในข้อ 21 ข้อตกลงกระทำการและงดเว้นกระทำการของ รฟม. ใน “ข้อ ข” ระบุว่า ภายใต้บังคับแห่งเงื่อนไขของสัญญานี้ รฟม.รับว่าจะไม่กระทำและจะต้องงดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่อาจขัดขวางหรือกระทบกระเทือนต่องานหรือการดำเนินการหรือการไหลเวียนของผู้โดยสารเข้าสู่โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือการจัดเก็บค่าโดยสารหรืออัตราค่าโดยสารตามสัญญานี้ ซึ่ง รฟม.ต้องตีความตรงนี้ก่อนที่จะเจรจากับ BEM และบีทีเอสต่อไป

“BEM มองว่า ส่วนต่อขยายสายสีเหลืองเป็นทางแข่งขันของสายสีน้ำเงิน เพราะพฤติกรรมการเดินทางของคนจะเปลี่ยน รฟม.ต้องกลับไปดูผลการเจรจาตอนนั้นว่าเป็นยังไง ทั้งนี้ มีการประเมินว่าหากเปิดสายสีเหลืองต่อขยายแล้วจะทำให้ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินลดลงบ้างแต่ไม่มากไม่ถึง 10% รฟม.ต้องเจรจากับ BEM และบีทีเอส จะหาแนวทางยังไง เพราะเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิด เช่น เจรจาบีทีเอสให้กำหนดไว้ในเงื่อนไขสัญญา หาก BEM มีการฟ้องเรียกค่าชดเชยในอนาคตจะต้องรับภาระส่วนนี้แทน รฟม. เพราะหาก รฟม.รับไปจะซ้ำรอยกรณีทางด่วน”

เกิดกรณีทำให้รัฐต้องกลับมาทบทวนสัญญาสัมปทานหลาย ๆ โครงการ หากมีโครงการใหม่มาต่อเชื่อมกับโครงเก่า จะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร แบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น !