กทพ.-ทล.ทิ้งทวนประมูล4หมื่นล้าน รอ”บิ๊กตู่”เซ็นยกระดับพระราม2เชื่อมด่วนดาวคะนอง

จับตารัฐบาลเซ็นสัญญาก่อสร้าง 4 หมื่นล้าน สร้างมอเตอร์เวย์-ทางด่วนใหม่ กรมทางหลวงรอ “บิ๊กตู่” อนุมัติผลประมูลทางยกระดับพระราม 2 ช่วง “บางขุนเทียน-เอกชัย” 3 สัญญา มูลค่ากว่าหมื่นล้าน คาด ก.ค.เซ็นผู้รับเหมาเริ่มตอกเข็มได้ ชะลอหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ส่วนนครปฐม-ชะอำ ติดล็อก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง บอร์ด กทพ.ไฟเขียวประมูลงานโยธาตัดด่วนใหม่ 4 สัญญา กว่า 2.9 หมื่นล้าน ตั้งเป้าลงเข็มในปีนี้ หลัง “สมคิด-อาคม” บี้เบิกก้อนแรก 15% นำเงินไหลเข้าสู่ระบบ

หลังกรมทางหลวงได้ผู้รับเหมาชนะประมูลงานก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย 1 ทั้ง 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 วงเงิน 4,000 ล้านบาท กิจการร่วมค้าเอ็นทีเอ สัญญาที่ 2 วงเงิน 4,000 ล้านบาท บจ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง และสัญญาที่ 3 วงเงิน 2,500 ล้านบาท บมจ.อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์

ก.ค.ตอกเข็มยกระดับพระราม 2

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน ก.ค.นี้ กรมคาดว่าจะให้ผู้รับเหมา 3 สัญญา เริ่มงานก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. ช่วงแรกจากบางขุนเทียนถึงเอกชัย 1 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร สร้างบนถนนพระราม 2 ระยะทาง 10.8 กม. ค่าก่อสร้าง 10,500 ล้านบาท จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี มีกำหนดเสร็จในปี 2564

“ขณะนี้รอนายกรัฐมนตรีรับทราบผลประมูลก่อสร้าง หากได้รับอนุมัติจะประกาศผลผู้ได้รับงาน และเริ่มก่อสร้างได้ ซึ่งล่าช้าจากแผนเล็กน้อยจากเดิมตั้งเป้าจะเริ่มงานในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา”

สำหรับแนวเส้นทางช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย 1 ตลอดเส้นทางมีทางขึ้น-ลง 3 จุดที่บางขุนเทียน วัดพันท้ายนรสิงห์ และมหาชัยเมืองใหม่ ขณะที่การเวนคืนได้งบประมาณ 640 ล้านบาท มีเวนคืน 2 จุด ได้แก่ 1.ด่านบางขุนเทียนและด่านมหาชัย 1 วงเงิน 300 ล้านบาท สร้างทางแยกต่างระดับ และ 2.ปั๊มน้ำมันและพื้นที่ว่างใกล้ด่านสมุทรสาคร 1 รวม 12 ไร่ วงเงิน 340 ล้านบาท สร้างทางขึ้น-ลงด่าน

PPP เหมาสร้าง-เก็บเงินทั้งสาย

ส่วนช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม.ที่จะสร้างต่อไป กรมจะให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost ทั้งก่อสร้างและจัดเก็บค่าผ่านทางตลอดเส้นทาง 25 กม. ระยะเวลา 33 ปี แยกเป็นก่อสร้าง 3 ปี จัดเก็บค่าผ่านทางทั้งโครงการและบริหารโครงการ 30 ปี มีมูลค่าโครงการรวม 48,310 ล้านบาท คาดว่าการอนุมัติโครงการจะต้องเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณา ตั้งเป้าเริ่มสร้างปี 2563-2565

“ปีแรกเปิดบริการ มีปริมาณจราจร 48,000 คัน/วัน เอกชนที่รับสัมปทานจะเก็บค่าผ่านทางตามสูตรที่กรมคิด คือ รถ 4 ล้อ 10+2.5 บาท/กม. รถ 6 ล้อ 16+3.2 บาท/กม. และรถมากกว่า 6 ล้อ 23+4.6 บาท/กม. ค่าผ่านจะแพงกว่าสายอื่นเล็กน้อย เพราะสร้างอยู่ในเขตเมืองราคาที่ดินแพง ในอนาคตจะเชื่อมกับทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯของการทางพิเศษ ที่ได้ผู้รับเหมาและจะเริ่มสร้างเร็ว ๆ นี้ ซึ่งกรมจะไม่มีการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกับทางด่วน”

ตอกเข็ม – โปรเจ็กต์ทางยกระดับพระราม 2 ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง25 กม. ซึ่งกรมทางหลวงจะท..าเป็นมอเตอร์เวย์ในอนาคต ซึ่งใช้งบประมาณก่อสร้าง10,500 ล้านบาท เปิดประมูลได้ผู้รับเหมาแล้ว เตรียมก่อสร้างภายในเดือน ก.ค.นี้

ชะลอมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-ปาดังฯ

สำหรับความคืบหน้ามอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวว่า คาดว่าโครงการจะชะลอออกไป เนื่องจากใช้เงินลงทุนสูง 57,022 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการไม่ค่อยดี การเปิด PPP ให้เอกชนร่วมลงทุนอาจจะไม่จูงใจมากนัก รวมถึงด่านชายแดนจากด่านสะเดาที่วิ่งข้ามไปยังมาเลเซีย ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ส่วนสายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงิน 79,006 ล้านบาท จะให้เอกชนลงทุนทั้งโครงการรูปแบบ PPP เหมือนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา โดยรัฐจ่ายค่าเวนคืน ส่วนเอกชนลงทุนก่อสร้าง เก็บค่าผ่านทางตามอายุสัมปทาน ซึ่งรัฐจะอุดหนุดเงินลงทุนไม่เกินค่างานโยธา ทั้งนี้ โครงการนี้อาจจะล่าช้า เนื่องจากจะติดกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่จะมีการจำกัดวงเงินแต่ละปีสำหรับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ไว้

บอร์ดอนุมัติผลประมูลด่วนใหม่

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด กทพ. วันที่ 27 มิ.ย. เห็นชอบในหลักการผลการประมูลโครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง ทั้ง 4 สัญญา วงเงิน 29,154.230 ล้านบาท

ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ระยะทาง 6.4 กม. เป็นทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ราคากลาง 6,979 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า CNA ประกอบด้วย บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เสนอราคาต่ำสุด 5,897 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 ระยะทาง 5.3 กม. เป็นทางยกระดับจากเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ราคากลาง 7,241 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีทีบี (ไชน่า ฮาร์เบอร์-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง) เสนอต่ำสุด 6,440 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 ระยะทาง 5 กม. ทางยกระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ราคากลาง 6,990 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ประกอบด้วย บจ.China Railway 11 th Bureau Group Corporaton, บจ.ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง และ บจ.บุญชัยพาณิชย์ (1979) เสนอต่ำสุด 6,098 ล้านบาท

และสัญญาที่ 4 งานก่อสร้างสะพานขึงข้ามแม่น้ำคู่ขนานสะพานพระราม 9 เชื่อมกับทางด่วนปัจจุบัน ราคากลาง 7,943 ล้านบาท มี บมจ.ช.การช่าง เสนอราคาต่ำสุด 6,636 ล้านบาท

เคลียร์รับเหมาจีนเสร็จเซ็นทันที

“แต่ให้เวลา กทพ. 10 วัน ไปดูเกี่ยวกับกรณีรัฐวิสาหกิจต่างประเทศเข้ามาประมูลงาน หากเกิดข้อพิพาทจะสามารถเอาความทางกฎหมายได้หรือไม่ เพราะผู้ที่ประมูล 3 สัญญา เป็นรัฐวิสาหกิจจีนซึ่งครั้งนี้มาเป็นแกนนำที่เข้าประมูล จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อเคลียร์ปัญหานี้ให้จบก่อน คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน หากไม่มีปัญหาติดค้างก็จะดำเนินการพิจารณาประกาศรายชื่อเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละสัญญาต่อไป ส่วนจะลงนามเมื่อไหร่ ต้องรอการเจรจาในรายละเอียดก่อน”

นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รักษาการผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า กทพ.ต้องเร่งดำเนินการโครงการเนื่องจากใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ที่เปิดขายหน่วยกองทุนไปวงเงิน 44,811 ล้านบาทมาก่อสร้างสำหรับทางด่วนสายนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท จะต้องเร่งเบิกจ่ายเพื่อไม่ให้มีภาระเรื่องดอกเบี้ย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้

สมคิด-อาคมบี้เบิก 15%

“ทางรองนายกรัฐมนตรี (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และรัฐมนตรีคมนาคม (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ได้เร่งรัดให้ กทพ.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะมีงบฯที่ค้างท่ออยู่เยอะ คาดว่าถ้าโครงการนี้ได้ผู้รับเหมาอย่างน้อย 4 สัญญา ก็น่าเบิกจ่ายแบบแอดวานซ์จากกองทุน TFF ได้ก่อนงวดแรก 15% หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท”


ขณะที่งานสัญญาที่ 5 ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจรและระบบสื่อสาร 900 ล้านบาท กทพ.ยังไม่ได้ยุติการประมูล แต่ผู้บริหารอยากให้พักการประมูลงานส่วนนี้เอาไว้ก่อน เพราะมองว่าการก่อสร้างงานโยธาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีจึงจะสร้างเสร็จ หากเร่งประมูลตั้งแต่วันนี้อาจจะทำให้เสียโอกาสที่จะได้เทคโนโลยีระบบที่ทันสมัยกว่าเดิมและมีราคาย่อมเยากว่า ทางเลือกจากนี้จึงมีได้หลายแบบ เช่น การปรับแก้ทีโออาร์, เปิดประมูลใหม่ เป็นต้น อาจจะต้องปรึกษาหารือกับบอร์ดก่อน อย่างไรก็ตาม การติดตั้งงานระบบส่วนใหญ่จะใช้เวลาติดตั้ง 2 ปี ดังนั้น อาจจะรอให้งานโยธาสร้างไปก่อน 1 ปี จึงจะเริ่มกระบวนการประมูลต่อไป