“เจ้าท่าภูเก็ต” จ่อผุดดิ้วตี้ฟรีรับเรือครูซ

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2562 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางรางและรองโฆษกกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน

พร้อมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต พร้อมติดตามการดำเนินโครงการสำคัญและตรวจท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการตรวจเยี่ยมของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันที่ 8 กรกฎาคม 2562 โดยมี นายวิวัธน์ ชิดเชิดวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

ซึ่งกรมเจ้าท่าได้รายงานความคืบหน้าโครงการสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

1.โครงการท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525–2529) ซึ่งสนับสนุนให้มีการก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่ ส่งผลให้นอกจากท่าเรือภูเก็ตแล้วยังมีท่าเรือที่ก่อสร้างในแผนพัฒนาฯ นี้ คือ ท่าเรือสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ภาคใต้ด้านชายฝั่งอ่าวไทย ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งตั้งอยู่ชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศ ท่าเรือภูเก็ตก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2531 เนื่องจากท่าเรือก่อสร้างด้วยงบประมาณแผ่นดินจึงเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ระบุให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ

โดยมีกรมธนารักษ์เป็นผู้บริหารและจัดการ ปัจจุบัน บริษัท ภูเก็ต ดีพ ซีพอร์ต ผู้ได้รับสัมปทานจากกรมธนารักษ์ เข้าดำเนินธุรกิจ 30 ปี เพื่อพัฒนาปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ระยะที่ 1 โดยได้กำหนดแผนพัฒนาท่าเรือฯ เพื่อพัฒนาท่าเรือภูเก็ตให้สามารถรองรับเรือโดยสารและเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ได้ มีการลงทุนก่อสร้างอาคารรองรับผู้โดยสาร พื้นที่ 900 ตารางเมตร ซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับกรมธนารักษ์

การปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบท่าเรือฯ ให้เกิดความสวยงาม และขยายหน้าท่าเรือฯ ให้สามารถรองรับเรือโดยสารและเรือสำราญได้มากขึ้น โดยจะขยายหน้าท่าเรือฯ เพิ่มอีก 60 เมตร จากเดิมที่มีความยาว 360 เมตร เป็น 420 เมตร สามารถรองรับเรือสำราญหรือเรือครุยส์ที่มีความยาว 240 เมตร ได้พร้อมกัน 2 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

ส่วนระยะที่ 2 จะขอใช้พื้นที่ของกรมธนารักษ์เพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม เช่น ร้านอาหาร ดิวตี้ฟรี อาคารสำนักงาน เป็นต้น โดยขอให้กรมเจ้าท่าลงทุนขุดลอกร่องน้ำ จุดกลับลําเรือ และบริเวณจอดเรือหน้าท่าให้มีความลึก 12 เมตร เพื่อพัฒนาเป็น Home port รองรับเรือ Cruise ขนาดใหญ่ ซึ่งกรมเจ้าท่าจะของบประมาณปี 2563 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป

2. โครงการจัดหาระบบตรวจการณ์ชายฝั่ง (VTMS) ซึ่งระยะที่ 1 ตั้งอยู่ที่อ่าวฉลอง ใช้งบประมาณของกรมเจ้าท่า 15.1822 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2556 ซึ่งกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างการของบประมาณปี 2563 จำนวน 13 ล้านบาท เพื่อซ่อมบำรุง ส่วนโครงการระยะที่ 2 และ 3 จท. ไม่สามารถของบประมาณซ่อมบำรุงได้ เนื่องจากเป็นงบกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ยังไม่ได้มีการส่งมอบคุรุภัณฑ์ให้ จท.

3. การพัฒนาและบริหารท่าเรือสำราญกีฬาอ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต ล่าสุด มีการปรับปรุงท่าเทียบเรือฉลอง ระยะที่ 4 วงเงิน 75 ล้านบาท แล้วเสร็จเดือนกันยายน 2559 และโครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการบริเวณอ่าว กรมเจ้าท่าได้ตั้งงบประมาณปี 2563 วงเงิน 20 ล้านบาท


จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะ ได้เดินทางไปตรวจท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการตรวจเยี่ยมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วันที่ 8 กรกฎาคม 2562