เปิดขุมทรัพย์คมนาคม “โครงการ-สัมปทาน” รอรัฐมนตรี-รัฐบาลใหม่กดปุ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 ก.ค.2562 เป็นนัดสุดท้ายของรัฐบาล คสช. ไม่มีการอนุมัติโครงการสำคัญที่หลายหน่วยงานพยายามผลักดันให้ได้รับการอนุมัติให้ทันรัฐบาลชุดนี้

ในส่วนของกระทรวงคมนาคม เป็นที่แน่ชัดแล้ว จะมี 3 พรรคการเมืองที่มากำกับดูแล คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง นายถาวร เสนเนียม พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ พรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง

ทั้งนี้ เมื่อไล่เรียงแผนงานโครงการของกระทรวงคมนาคม แม้ว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จะมีการผลักดันโครงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีโครงการขนาดใหญ่และสัญญาสัมปทานที่ยังไม่สำเร็จลุล่วง จนตกทอดมาถึงรัฐบาลชุดใหม่-รัฐมนตรีขั้วใหม่

@เกลี่ยใหม่งบปี’63 กว่า 4 แสนล้าน

คาดว่าเรื่องแรกที่ทั้ง 3 รัฐมนตรีที่จะมาประจำการที่คมนาคมจะต้องเร่งทำ คือ การจ้ดสรรงบประมาณประจำปี 2563 ให้สอดรับกับนโยบายที่หาเสียงไว้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมยื่นเสนอขอไปที่สำนักงบประมาณไว้ประมาณ 4.2 แสนล้านบาท

แต่เมื่อรัฐบาลเปลี่ยน งบประมาณล่าช้า เหลือระยะเวลาที่ใช้จ่ายงบเหลือแค่ 8 เดือน (ก.พ.-ก.ย.2563) เท่านั้น คาดว่างบประมาณจะถูกปรับลดลงไป ยังไม่รู้งบประมาณก่อสร้างกระทรวงที่ใหม่กว่า 3 พันล้านบาทจะถูกตัดด้วยหรือไม่

@เผือกร้อนสัมปทานทางด่วน

สำหรับโครงการที่รอรัฐบาลใหม่มาสะสาง มีเผือกร้อน ”สัญญาทางด่วน” ของ บมจ.ระบบทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่การทางพิเศษประเทศไทย (กทพ.) ได้ยื่นเรื่องเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนนำเสนอให้ ครม.อนุมัติ

หลังเจรจากับ BEM เพื่อจะขอยุติข้อพิพาททางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ กทพ.จ่ายชดเชยให้ บจ.ทางด่วนเหนือ (NECL) บริษัทลูก BEM ผู้รับสัมปทานวงเงิน 4,318 ล้านบาท รวมถึงเจรจายุติข้อพิพาทที่มีต่อกันมายาววนาน โดย BEM ลดมูลหนี้จากเดิม 1.37 แสนล้านบาท เหลือประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท

จนได้ข้อยุติและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) ไปแล้ว จะขยายสัญญา 30 ปี ใน 3 สัญญา ให้กับ BEM ได้แก่ 1.ทางด่วนขั้นที่ 2 จากเดิมสิ้นสุด มี.ค. 2563 เป็น มี.ค. 2593 2.ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี จากเดิม เม.ย. 2570 เป็น เม.ย. 2600 และ 3.ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด จากเดิม ก.ย.2569 เป็น ก.ย. 2599  นอกจากนี้ยังมีปรับค่าผ่านทางแบบคงที่ในอัตรา 10 บาท ทุก 10 ปี กทพ.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง 60% ตลอดอายุสัญญา และ BEM จะลงทุน 31,500 ล้านบาท สร้างและปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 เป็นทางด่วน 2 ชั้น จากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กม. แก้รถติด

ทั้งนี้แบ่งการต่อสัมปทาน 2 ระยะ ในระยะแรก 15 ปี ระยะที่ 2 อีก 15 ปี ต่อเมื่อแผนสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ได้รับอนุมัติ โดยการขยายสัมปทานครั้งนี้เป็นการแก้ไขในสัญญาเดิม และผ่านการพิจารณาจากอัยการสูงสุดแล้ว รอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเสนอ ครม.

ล่าสุด ”อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ส่งเรื่องกลับไปยัง กทพ.เพื่อให้ดำเนินการตามที่อัยการสูงสุดมีข้อสังเกตมา 4-5 ประเด็น ซึ่งดูแล้วเป็นสาระสำคัญ เช่น การเจรจาดำเนินการเป็นไปตาม พ.ร.บ.รวมทุนฯหรือไม่

เนื่องจากการขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ที่จะครบกำหนดวันที่ 28 ก.พ.2563 คนละเรื่องกับการแพ้คดีข้อพิพาททางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด จะนำมาเหมารวมกันไม่ได้ การคิดปรับค่าผ่านทาง 10 บาท 10 ปีจะมีผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่ เป็นต้น โดยให้รัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่และรัฐบาลใหม่พิจารณาอนุมัติต่อไป

@จับตาเซ็นไฮสปีด-ถมเวนคืนบางใหญ่

อีกโครงการสัมปทานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 224,544 ล้านบาทที่กลุ่ม ซี.พี.และพันธมิตร เป็นผู้ชนะประมูลและรับสัปทานโครงการ 50 ปี ถึง ครม.อนุมัติไปแล้ว แต่การเซ็นสัญญามีแนวโน้มจะล่วงเลยไปถึงรัฐบาลใหม่ ติดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ยังหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไม่จบ ตามไทม์ไลน์ตั้งเป้าจะเซ็นสัญญาในเดือน ก.ค.นี้

น่าจับตาไม่แพ้กัน”ค่าเวนคืน 8,000 ล้านบาท “ที่กรมทางหลวงรอครม.อนุมัติขยายกรอบวงเงินมาเดินหน้าก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ขณะนี้ไซต์ก่อสร้างหยุดไปเกือบครึ่ง ปัจจุบันงานก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนร่วม 2 ปี มีแนวโน้มการเปิดบริการจะขยับไป

@โปรเจ็กต์รอเซ็นพรึบ

มาดูโครงการที่ประมูลไปแล้ว แต่รอเซ็นสัญญา มีรถไฟไทย-จีนเฟสแรก 253 กม. วงเงิน 179,412 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างประมูลร่วม 1 แสนล้านบาท

ทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. เงินลงทุนกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท เปิดประมูลได้ผู้เสนอราคาต่ำสุดงานโยธาทั้ง 4 สัญญาไปแล้ว

ทางยกระดับพระราม 2 ช่วงบางขุนเทียนถึงเอกชัย 1 ระยะทาง 10.8 กม. ค่าก่อสร้าง 10,500 ล้านบาท

โครงการพัฒนาสนามบินนครศรีธรรมราช 1,800 ล้านบาท และตรัง 2,000 ล้านบาท

ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง 2 มอเตอร์เวย์ใหม่สายบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี เงินลงทุน 61,086 ล้านบาท

@รถไฟฟ้า-ทางคู่รอประมูล

สำหรับรอเสนอ ครม.และเปิดประมูล มีหลายโครงการที่ค้างท่อ เช่น รถไฟฟ้ามีสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ 13.4 กม. จะเปิด PPP ให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและเดินรถตลอดเส้นทางบางขุนนนท์-มีนบุรี กว่า 1 แสนล้านบาท

สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท

มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ 109 กม. วงเงิน 79,006 ล้านบาท รอเสนอ ครม.อนุมัติเปิด PPP

สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 62.59 กม. วงเงิน 57,022 ล้านบาท และส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. วงเงิน 30,538 ล้านบาท รอผลศึกษารูปแบบ PPP

ทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต 3.98 กม. เงินลงทุน 13,917 ล้านบาท รอบอร์ด PPP ไฟเขียว

ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 ระยะที่ 1 ช่วงแยกเกษตร-วงแหวนรอบนอก เงินลงทุน 17,000 ล้านบาท

รถไฟทางคู่เฟส 2 อีก 6 เส้นทาง ระยะทาง 1,128 กม. วงเงิน 206,539 ล้านบาท

รถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง วงเงิน 23,417 ล้านบาท ได้แก่ รังสิต-ธรรมศาสตร์, ตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทางรวม 29.34 กม.

รถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 85,345 ล้านบาท

แผนจัดเช่าและซื้อรถเมล์ใหม่ตามแผนฟื้นฟูของ ขสมก.ที่ยังเหลืออีก 2,188 คัน เงินลงทุนรวมกว่า 2 หมื่น ล้านบาท