รฟม.เปิดไซต์สายสีชมพูพาดู “BEAM” คานทางวิ่งโมโนเรลแห่งแรกของประเทศทั้งแข็งแรง-สร้างได้เร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 11 ก.ค.2562 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)จัดกิจกรรม Site Visit เยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้างและติดตั้งคานทางวิ่ง (GUIDEWAY BEAM) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย -มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. ที่กลุ่มBSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสโฮลดิ้ง บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นติเนี่ยนิ่ง และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์ เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง
 
โดยบมจ.ซิโน-ไทยฯ ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้ผลิตชิ้นส่วนคานก่อสร้างนี้สำหรับสายสีชมพูโดยเฉพาะ และนำมาก่อสร้างที่สถานีติวานนท์เป็นพื้นที่แรกและชิ้นแรกของประเทศไทย
 
โดยเป็นคานทางวิ่งแบบหล่อสำเร็จขนาดใหญ่ ผลิตจากโรงผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป ที่จ.นนทบุรี ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างทางวิ่งที่แข็งแรงสำหรับให้รถไฟฟ้าโมโนเรลวิ่งคร่อมอยู่ด้านบน การติดตั้ง Guideway Beam นับเป็นก้าวสำคัญของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู
 
เพราะเป็นความก้าวหน้า จากการก่อสร้างระดับฐานราก สู่ขั้นตอนทางยกระดับ หลังจากนี้โครงการจะดำเนินการยกคานทางวิ่งสายทาง (Elevated) จำนวน 2,686 ชิ้นและคานทางวิ่งสถานี (Station) 186 ชิ้น ตลอดทั้งสายทางต่อเนื่องไปจนครบ
 
และเมื่อดำเนินงานโครงสร้างทางวิ่งจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเริ่มขั้นตอนการก่อสร้างสถานีเป็นลำดับถัดไป
 
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู สร้างอยู่บนถเกาะกลางถนนเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นทางอยู่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางใผ่)
 
จากนั้นวิ่งเข้าถนนติวานนท์แล้วเลี้ยวขวาบริเวณห้าแยกปากเกร็ด ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ ตรงไปยังถนนรามอินทรา และมาปลายทางที่มีนบุรี
 
มี 30 สถานี ได้แก่ 1.สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี ตั้งอยู่บน ถ.รัตนาธิเบศร์ จะมีสกายวอล์กเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง
 
2.สถานีแคราย ถ.ติวานนท์ ใกล้โรงพยาบาลโรคทรวงอก ระหว่างซอยติวานนท์ 13 กับซอย 15
 
3.สถานีสนามบินน้ำ ถ.ติวานนท์ ใกล้แยกสนามบินน้ำ ระหว่างแยก ถ.สนามบินน้ำกับซอยติวานนท์ 35
 
4.สถานีสามัคคี ถ.ติวานนท์ ใกล้แยกเข้า ถ.สามัคคี ระหว่างคลองบางตลาด กับ ถ.สามัคคี
 
5.สถานีกรมชลประทาน ถ.ติวานนท์ ใกล้โรงเรียนชลประทานวิทยา ระหว่างซอยติวานนท์ 4 กับซอย 6
 
6.สถานีปากเกร็ด อยู่บริเวณหัวมุมห้าแยกปากเกร็ด
 
7.สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ถ.แจ้งวัฒนะ ใกล้แยกถนนเลี่ยงเมืองปากเกร็ด ตัดกับ ถ.แจ้งวัฒนะ
 
8.สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ตั้งอยู่บน ถ.แจ้งวัฒนะ ใกล้ห้างเซ็นทรัล พลาซา
 
9.สถานีเมืองทองธานี ใกล้กับถนนเข้าเมืองทองธานีและสะพานข้ามแยกเมืองทองธานี
 
10.สถานีศรีรัช บริเวณปากทางเข้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี
 
11.สถานีเมืองทอง 1 บริเวณซอยแจ้งวัฒนะ 14 (ซอยหมู่บ้านเมืองทอง 1)
 
12.สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ หน้ากรมการกงสุลและการสื่อสาร
 
13.สถานีทีโอที อยู่ระหว่างซอยแจ้งวัฒนะ 5 กับซอย 7
 
14.สถานีหลักสี่ ใกล้ศูนย์การค้าไอทีสแควร์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต)
 
15.สถานีราชภัฏพระนคร หน้าห้างแม็กซ์แวลูและ ม.ราชภัฏพระนคร
 
16.สถานีวงเวียนหลักสี่ ตั้งอยู่บน ถ.รามอินทรา ใกล้วงเวียนอนุสาวรีย์หลักสี่ เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่)
 
17.สถานีรามอินทรา 3 อยู่ระหว่างซอยรามอินทรา 3 กับซอย 5 ใกล้ห้างเซ็นทรัลรามอินทรา และคอนโดมิเนียมลุมพินีเพลส
 
18.สถานีลาดปลาเค้า ใกล้ทางเข้า ถ.ลาดปลาเค้า
 
19.สถานีรามอินทรา 31 ใกล้ฟู้ดแลนด์ ระหว่างรามอินทราซอย 29 และ 31
 
20.สถานีมัยลาภ อยู่ระหว่างรามอินทราซอย 12 กับซอย 14
 
21.สถานีวัชรพล ใกล้ซอยวัชรพล ช่วงรามอินทราซอย 59 กับซอย 61 อนาคตจะเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทา
 
22.สถานีรามอินทรา 40 อยู่ระหว่างรามอินทราซอย 40 กับซอย 42
 
23.สถานีคู้บอน อยู่บริเวณทางแยกนวมินทร์ หรือรามอินทรา กม.8 ระหว่างรามอินทราซอย 46 กับซอย 48 ใกล้แยกคู้บอน
 
24.สถานีรามอินทรา 83 ใกล้โรงพยาบาลสินแพทย์
 
25.สถานีวงแหวนตะวันออก หน้าศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์
 
26.สถานีนพรัตนราชธานี ใกล้แยกเข้าสวนสยาม
 
27.สถานีบางชัน ใกล้ซอยรามอินทรา 109 และซอย 115
 
28.สถานีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ใกล้กับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
 
29.สถานีตลาดมีนบุรี ตั้งอยู่บน ถ.สีหบุรานุกิจ ใกล้ตลาดมีนบุรี
 
30.สถานีมีนบุรี ตั้งอยู่บน ถ.รามคำแหงซอย 192 ใกล้แยกร่มเกล้า เป็นสถานีปลายทาง เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงบางกะปิ-มีนบุรี) ซึ่งจะมีจุดจอดแล้ว (Park and Ride) จอดรถได้ 2,000 คัน และศูนย์ซ่อมบำรุงบนพื้นที่ 280 ไร่
 
ทั้งนี้กลุ่ม BSR ได้ยื่นข้อเสนอลงทุนก่อสร้างเพิ่มจากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. วงเงินลงทุน 3,379 ล้านบาท
 
แนวเริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณสถานีศรีรัชของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี สายหลัก ไปทางทิศตะวันตก และเลี้ยวขวาเข้าสู่เมืองทองธานีไปตามซอยแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 แนวทางเดียวกันกับทางพิเศษอุดรรัถยา ต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี
 
มี 2 สถานี ได้แก่ สถานี MT-01 ตั้งอยู่บริเวณอิมแพ็คชาเลนเจอร์ และสถานี MT-02 ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของทะเลสาบเมืองทองธานี ล่าสุดผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
 
ปัจจุบันงานก่อสร้างของสายหลักช่วงแคราย-มีนบุรี ณ เดือนมิถุนายน มีความคืบหน้าโดยรวม 32.89% แยกเป็ฯงานก่อสร้างงานโยธา 38.20% และงานระบบไฟฟ้า 26.85% ตามสัญญาจะแล้วเสร็จเปิดบริการในเดือนตุลาคม 2564 ขณะที่ส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานีอาจจะขยับไปเป็นปี 2565