ไทยแลนด์โมเดล “จุฬา สุขมานพ” เปิดบ้านเจ้าภาพประชุม ICAO ภารกิจ 2 ปีปลดธงแดงสำเร็จ

สัมภาษณ์พิเศษ

จะครบรอบ 4 ปีในเดือน ต.ค.นี้สำหรับ “กพท.-สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย” หน่วยงานที่แตกแขนงมาจากกรมท่าอากาศยาน ที่ทุ่มแรงกายแรงใจปลดธงแดง “ICAO องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ” ปักแสลงใจประเทศไทยวันที่ 18 มิ.ย. 2558 จนสำเร็จภายในเวลา 2 ปี เป็นผลงานชิ้นโบแดงให้กับรัฐบาล คสช. และมีหลายประเทศจะใช้ไทยเป็นโมเดลต้นแบบแก้ปัญหาด้านการบิน

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.จุฬา สุขมานพ” หลัง คสช.ใช้อำนาจ ม.44 โยกจากอธิบดีกรมท่าอากาศยานมานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการ กพท.คนแรก และไม่ทำให้ผิดหวังสามารถปฏิบัติภารกิจของชาติสำเร็จ

แต่ก็มีคำถามเมื่อรัฐบาล คสช.หมดวาระแล้ว ชื่อ “ผอ.จุฬา” ที่มาโดย ม.44 จะยังอยู่ที่ กพท.หรือจะได้กลับมาเติบโตในเส้นทางข้าราชการอีกครั้ง เพราะยังเหลือ 6 ปีกว่าจะเกษียณ

Q : มีรัฐบาลใหม่จะได้กลับไปรับราชการหรือไม่

ยังไม่รู้เหมือนกัน ถ้ารัฐบาลจะให้กลับก็กลับได้ เพราะ ม.44 ให้กลับได้ ถ้าได้กลับต้องสมัครเป็นข้าราชการใหม่ เหลืออีก 6 ปีจะเกษียณ แต่ถ้าไม่ได้กลับก็อยู่ที่ กพท. ตอนที่ให้ผมมาเพราะมีงานต้องทำ ถือว่าเป็นงานที่ยากอยู่ แต่ก็ถือว่าเราทุกคนก็ทำเต็มที่

ตอนรู้ว่าไทยปลดธงแดงได้ ยังไม่โล่งใจเพราะเรารู้ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก ใครบอกสบายแล้วพักได้ ใครจะรู้ว่าธงแดงอาจจะกลับมาอีกก็ได้ ถ้ากลับมาเราก็เหนื่อยฟรี 3-4 ปีที่ผ่านมา

ถามว่าการดำเนินการเราเป็นไปตามเป้าหมายหรือยัง ต้องบอกว่า กพท.เป็นหน่วยงานใหม่ จะครบ 4 ปีในเดือน ต.ค.นี้ ต้องสร้างอะไรใหม่เยอะ ในช่วง 2-3 ปีแรกใช้เวลากับการแก้ปัญหาไปมาก ทุกคนเร่งหมด ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่สะสมมานาน จึงใช้เวลาเยอะ ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เหมือนเราใช้เวลารื้อบ้านเก่าออก แล้วสร้างบ้านใหม่ ช่วงที่ผ่านมาก็รื้อออก ตอนนี้ก็พยายามวางระบบใหม่ สร้างรั้วให้ดีขึ้น ใครมาตรวจก็จัดการได้ เพราะเราจะมีระบบที่ดีพอ

อีก 2-3 ปีข้างหน้าพื้นฐานระบบต่าง ๆ จะดีขึ้นมาก ถามว่าจะให้คะแนนตัวเองเท่าไหร่ ถือว่าโอเค จากสถานการณ์อะไรต่าง ๆ ที่ผ่านมา เราแก้เราผ่านมันมาได้ คนอื่น ๆ มองว่าเราแก้ได้เร็วด้วยซ้ำ ทาง ICAO เลยอยากให้เราแชร์ว่า ทำไมใช้เวลาแก้ปัญหาได้เร็ว เราก็บอกว่า ไม่ใช่แค่คนไทย แต่มีทีมต่างชาติมาช่วยด้วย เช่น ยุโรป เอียซ่า เป็นต้น

Q : ICAO ให้แชร์ประสบการณ์ยังไง

ICAO เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพประชุม The Third Global Aviation Cooperation Symposium (GACS/3) เพราะเรามีพัฒนาการที่เร็วหลังถูกปักธงแดง ซึ่งครั้งแรกจัดที่แคนาดา ครั้งที่ 2 ที่ตุรกี และครั้งนี้ เขาอยากจัดในโซนนี้ จึงเลือกไทยเพราะมีกิจกรรมกับเขาเยอะช่วงที่โดนธงแดงถือว่าเป็นประเทศใหญ่ ใช้เวลา 2 ปีก็แก้ไขได้ ซึ่งประเทศอื่นใช้เวลา 3 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็ก ๆ

งานนี้จะมีสมาชิก ICAO จาก 192 ประเทศเข้าร่วม ตอบรับแล้ว 170 ประเทศ งานจัดวันที่ 22-24 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน บีช รีสอร์ท จ.ภูเก็ต คาดว่าจะมีคนมาร่วมงาน 350-400 คน ใช้งบฯ 20 ล้านบาท เป็นครั้งแรกของไทยที่จัด ที่ผ่านมาเป็นเพียงการจัดในเอเชีย-แปซิฟิก หรือ 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด แต่ครั้งนี้จะมาทั้งหมด ซึ่งภูมิภาคเราถือเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตด้านการบินมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

รูปแบบเป็นการสัมมนามีหัวข้อเป็นช่วง ๆ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการเล่าถึงปัญหาที่ผ่านมามีอะไร และนำมาตรฐาน ICAO ไปใช้กำกับดูแล ในแต่ละประเทศ แล้วมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการบิน สนามบิน การจราจรทางอากาศปรับปรุงยังไง เพราะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเยอะขึ้น สนามบินเริ่มแน่น ความปลอดภัยก็ต้องมาคุยกัน จะมีหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศบริหารจัดการเรื่องราวเหล่านี้อย่างไร

เลือกจัดที่ จ.ภูเก็ต เพราะหวังว่าจะได้ใช้เวลาร่วมกันนานขึ้น เกิดการสร้างเครือข่าย ซึ่งเอื้อโอกาสที่ไทยจะเข้า ICAO เพราะการประชุมระดับโลกจัดที่มอนทรีออล แคนาดา เลยนำรูปแบบเดียวกันมาจัดที่ไทย แถมได้ช่วยการท่องเที่ยวของไทยด้วย ซึ่งช่วงนี้เข้าสู่ซัมเมอร์ของต่างประเทศแล้ว ก็ดึงดูดให้เข้ามาท่องเที่ยวได้ จะเชิญนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เข้าร่วมเปิดงาน ซึ่งได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (อาคม เติมพิทยาไพสิฐ) แล้ว

Q : ภารกิจปลดธงแดงยังเหลืออะไร

เรื่องเล็กน้อยที่ต้องแก้ไป ซึ่ง ICAO ไม่ได้กำหนดเวลาเพราะบางเรื่องใช้เวลานาน เช่น จำนวนผู้ตรวจสอบด้านความปลอดภัย ที่ไทยมีสัดส่วนต่ออุตสาหกรรมยังน้อยอยู่ การจะเพิ่มคนต้องใช้เวลา เพราะคนยังไม่มี ต้องซื้อตัวนักบินเข้ามาทำงานในส่วนนี้ อบรมอีก 2 ปี ปัจจุบันมี 14 คน และอยู่ระหว่างฝึกอบรมอีก จึงต้องใช้คนของ กพท.ด้วย

ยังมีตรวจสอบออกใบรับรองสนามบิน ระหว่างประเทศต้องได้รับใบรับรองจาก ICAO ปัจจุบันมี 11 แห่ง ออกใบรับรองแล้ว 6 แห่ง เหลือ 5 แห่ง ได้แก่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี อุดรธานี หัวหิน และสมุย จะตรวจให้เสร็จในปี 2563 กระบวนการคือให้สนามบินมีคู่มือตามแบบของ ICAO เช่น กายภาพสนามบินต้องมีระยะเขตปลอดภัยเท่าไหร่ คู่มือด้านต่าง ๆ ของสนามบินถ้าเกิดเหตุต่าง ๆ เช่น เหตุฉุกเฉิน ส่วนของ ทอท.ได้ครบแล้วเหลือเพียงไปตรวจว่าทำตามใบรับรองแค่ไหนอย่างไร

เรื่องวิทยุการบินจะต้องออกใบรับรองให้ตามมาตรฐานของ ICAO ระบุว่า คนที่ทำงานทางอากาศจะต้องมีใบรับรองคล้าย ๆ ISO ซึ่งของสนามบินเรียกว่า “ใบรับรองผู้ดำเนินการสนามบินสาธารณะ” ซึ่งของวิทยุการบิน คือ “ใบรับรองผู้ให้บริการการเดินอากาศ” แม้แต่กรมอุตุนิยมวิทยาที่พยากรณ์สภาพอากาศ ก็ต้องออกใบรับรองให้

ที่ต้องเร่งทำก่อน คือ ออกใบรับรองให้สนามบิน 5 แห่งในปีหน้าเน้นสนามบินระหว่างประเทศก่อน จากนั้นถึงมาเป็นสนามบินในประเทศ ซึ่งมีของกรมท่าอากาศยาน 28 แห่ง จะเริ่มจากสนามบินที่มีคนใช้มากสุดก่อน ซึ่งการปลดธงแดงไม่มีเสร็จ 100% อยู่ที่ว่าประเทศไหนมี activity แค่ไหน

Q : ผลการตรวจของ FAA

จะคล้าย ICAO คือจำนวนผู้ตรวจสอบของ FAA (สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ) จะระบุเครื่องบินมีกี่แบบต้องมีผู้ตรวจให้ไปตามแบบนั้นทุกประเภท เช่น เครื่อง ATR ใบพัดมีบางกอกแอร์เวย์สกับนกแอร์ใช้ ที่ผ่านมาให้เอกชนตรวจแทน ซึ่ง FAA บอกว่ามอบได้แต่ต้องมีคนที่ตรวจคุณสมบัติคนที่รับมอบอีกที เรายังไม่มี จะทำ MOU กับต่างประเทศ แลกเปลี่ยนผู้ตรวจสอบ เช่น สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม เพราะเขาก็ขาดคนและกลัวธงแดง ในปีนี้จะแสดงความพร้อมให้ FAA มาตรวจ ส่วนจะมาเมื่อไหร่ไปบังคับไม่ได้

ตอนนี้ยังไม่มีใครประสงค์จะบินเข้าอเมริกา เพราะไม่ได้กำไร ปัจจุบันการบินไทยบินไปญี่ปุ่น ทำ code share จากญี่ปุ่นเข้าอเมริกา เราอาจจะดูไม่ดีที่บินเข้าอเมริกาไม่ได้ จริง ๆ แล้วเราโดนอเมริกางดเพิ่มไฟลต์และเส้นทาง แต่บังเอิญไม่มีบินพอดีเลยเป็นศูนย์ แต่เราก็ต้องแก้ไขปัญหานี้

Q : การขออนุญาตใหม่

สายการบินระหว่างประเทศตรวจหมดแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว กำลังตรวจสายการบินภายในประเทศ ซึ่งสายการบินที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน ไม่ให้บินระหว่างประเทศ ส่วนสายการบินในประเทศบางรายก็ล้มหายตายจากไป แต่เราก็ตรวจใหม่ ปัจจุบันมีขอใหม่ 2 ราย คือ ไทยอีสตาร์ เจ็ท และไทย ซัมเมอร์ แอร์เวย์ เป็นเส้นทางบินระหว่างประเทศ

Q : มองธุรกิจการบินในช่วงนี้

หลังปลดธงแดงก็เติบโตสูงขึ้น สายการบินไทยไม่ค่อยสูงเพราะแข่งขันสูง แต่ในตลาดโลกเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่ม ในการเติบโตคนไทยไม่ได้กำไร เพราะส่วนใหญ่บินในประเทศ ไม่ได้แข่งกับเขา แต่ถ้าที่บินผ่านประเทศเรา ปีที่แล้วมีผู้โดยสาร 162 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็น domestic ถ้านับเป็นสายการบินในประเทศก็ 7 ราย ขณะที่ต่างประเทศมีเป็น 100 ราย พอผู้โดยสารมากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น ส่วนใหญ่เน้นสู้ราคา ผู้โดยสารไม่ได้ผูกกับสายการบินใด ใครถูกกว่าก็ใช้บริการ