“อัศวิน” แจงยิบประมูลเตาเผาขยะ 1.2 หมื่นล้าน ตั้ง 2 รองผู้ว่าใหม่เดินหน้าโครงการ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้งบประมาณเป็นเงิน 13,140 ล้านบาท พร้อมกับมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลาออกในขณะนี้ ว่าโครงการดังกล่าวเป็นการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย แบ่งออกเป็น 2 โครงการ คือ ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช มีระยะเวลาดำเนินการถึง 20 ปี

หากคำนวณแล้ว แต่ละแห่งจะใช้งบประมาณ ประมาณ 6,000 ล้านบาท เฉลี่ยใช้งบประมาณปีละประมาณ 200 ล้านบาท หรือหากคิดเป็นวัน เฉลี่ยวันละ 800,000 บาท โดยค่าดำเนินการจะไม่เกิน 900 บาทต่อตัน ซึ่งเตาเผาขยะเดิมที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเมื่อปี 2556 และเริ่มเดินเครื่องในปี 2559 ใช้งบประมาณกำจัดขยะถึงตันละ 970 บาท จะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานครได้เตาเผาที่ใหม่กว่า แต่ราคาต้นทุนการดำเนินการถูกกว่าเตาเผาเดิมเกือบ 100 บาท/ตัน

ทั้งนี้ บริษัทที่ชนะการประมูลในโครงการนี้จะต้องใช้เงินลงทุนเองจำนวนประมาณ 3 พันล้านบาท รวมถึงดำเนินการเดินเครื่องกำจัดขยะด้วย และภายหลังจาก 20 ปี บริษัทเอกชนจะต้องโอนเตาเผาขยะทั้งหมดให้กรุงเทพมหานครดูแล

อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับราคาการกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบในปัจจุบัน พบว่ามีราคาใกล้เคียงกับการกำจัดด้วยการเผามาก แต่ในอนาคตพื้นที่ที่ต้องใช้ในการฝังกลบอาจไม่มี เนื่องจากจังหวัดอื่นคงไม่ยินยอมให้เอาขยะจากกรุงเทพมหานครไปฝังกลบอีกต่อไป เนื่องจากพื้นที่ที่เป็นจุดฝังกลบในรัศมี 1 กม. จะไม่สามารถปลูกพืชได้ รวมทั้งอาจมีปัญหามลภาวะ ซึ่งขยะส่วนใหญ่เป็นขยะเปียกมากกว่าขยะแห้ง มลพิษต่าง ๆ อาจซึมลงไปในชั้นใต้ดินก่อให้เกิดมลพิษได้

ทั้งนี้โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยฯ ยังอยู่ระหว่างรายงานผลการพิจารณาและขออนุมัติให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ โดยที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช มีผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลจำนวนถึง 8 ราย และที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม มีจำนวน 5 ราย ซึ่งหากมีการเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาหรือรายละเอียดไม่โปร่งใสคงไม่มีบริษัทสนใจเข้าร่วมประมูล

อย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานครจะพิจารณาจากความทันสมัยของเทคโนโลยีในการเผาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถได้ประโยชน์จากการเผามูลฝอยกลับคืนมาในรูปของพลังงานไฟฟ้า และเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และขอยืนยันว่าการใช้งบประมาณในการกำจัดขยะจะไม่เกิน 900 บาทต่อตัน

สำหรับกรณีที่มีบริษัทฟ้องร้องกับศาลปกครอง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) นั้น กรุงเทพมหานครได้ชี้แจงรายละเอียดกับ สตง. และ ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งศาลปกครองได้ทำการตรวจสอบและยกคำร้องดังกล่าวแล้ว ซึ่งทุกอย่างทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างโปร่งใส

สำหรับการลาออกของรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้ง 2 ท่าน คือ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม และนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ นั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวว่า ในเรื่องของนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตนรู้สึกเสียดายมาก

โดยก่อนหน้านี้นายจักกพันธุ์เคยปรึกษาเรื่องลาออกแล้วถึงสองครั้ง เพราะได้รับหน้าที่ดูแลภารกิจที่หนัก แต่ได้ขอให้อยู่ช่วยกันทำงานก่อน นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ยังได้มีการโทรศัพท์หารือถึงเรื่องสถานการณ์น้ำในกรุงเทพมหานครกันอยู่ จึงขอยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องเตาเผาขยะนี้อย่างแน่นอน และในส่วนรองผู้ว่าฯ คนใหม่ คือ พ.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ และ นายศักดิ์ชัย บุญมา นั้น จะมอบหมายและแบ่งหน้าที่กำกับดูแลงานตามความเหมาะเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง

ด้าน นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้เสนอราคาร้องเรียนการประมูลดังกล่าวว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทใดบริษัทหนึ่งว่า โครงการเตาเผาขยะ ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำจัดมูลฝอย พ.ศ. 2560 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560

โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำจัดขยะให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม และระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด สำหรับเอกชนที่เสนอราคาประมูลโรงเตาเผาขยะ จะต้องเสนอผลงานประเภทเดียวกับที่หน่วยงานจะจัดซื้อจัดจ้าง

โดยสัญญาสัมปทานเป็นรูปแบบ BOT คือ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องดำเนินการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลอดจนบริหารจัดการทั้งหมดในระยะเวลาที่กำหนด และเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะตกเป็นของกรุงเทพมหานคร การก่อตั้งโรงงานกำจัดขยะจะตั้งอยู่ในเมือง จึงต้องควบคุมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน โดยใช้การจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการจัดการเรื่องคุณภาพอากาศ เสียง หรือฝุ่น อย่างมีมาตรฐาน

ดังนั้น เอกชนที่ได้รับมอบหมายให้มาดำเนินการจะต้องมีความทันสมัยในด้านเทคโนโลยี ประสบการณ์ รวมถึงมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กรุงเทพมหานคร ซึ่งการคัดเลือกเอกชนจะต้องใช้วิธีประมูล ภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560

โดยพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ได้แก่ ประสบการณ์ ผลงาน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค ข้อเสนอทางด้านการเงิน และมาตรการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายใดรายหนึ่งอย่างที่มีการร้องเรียน เพราะทุกกระบวนการดำเนินการภายใต้เงื่อนไขและกฎหมายที่กำหนดทั้งสิ้น