รถไฟเร่ง “เวนคืนที่ดิน-รื้อผู้บุกรุก” ส่งมอบ 4,421 ไร่ ให้ ซี.พี.สร้างไฮสปีด

ในที่สุดเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ออกมาย้ำหมุดอีกครั้งจะลุยพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอย่างเต็มสูบ แม้จะเป็นเรื่องใหม่ในเครือ ซี.พี.และระดับประเทศก็ตาม

หลังกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้ชนะประมูลก่อสร้าง วงเงิน 224,544 ล้านบาท และรับสัมปทานบริหารโครงการทั้งแอร์พอร์ตลิงก์ รถไฟความเร็วสูงและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นระยะเวลา 50 ปี

ตอนนี้รอสรุปการส่งมอบพื้นที่ระหว่างรัฐและเอกชนที่ยังจูนกันไม่ลงตัว ทำให้ฤกษ์เซ็นสัญญายังไม่นิ่ง

แต่คาดหมายไม่เกินสิ้นเดือน ก.ค.นี้ จะจดปากกาเซ็นสัญญากลุ่ม ซี.พี.ได้อย่างแน่นอน หลัง “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ได้รวบรวมพื้นที่ส่งมอบให้เสร็จสรรพ รอแค่ ซี.พี.โอเคเท่านั้นทุกอย่างก็เดินหน้า

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.ในฐานะประธานคณะทำงานชุดย่อยดำเนินการเรื่องการส่งมอบพื้นที่กล่าวว่า ได้หารือกับกลุ่ม ซี.พี.แล้ว เบื้องต้นสรุปพื้นที่จะใช้ก่อสร้างมีทั้งหมด 3,571 ไร่ รวมพื้นที่เวนคืนอีก 850 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมด 4,421 ไร่ จากเดิมที่ประเมินว่าต้องใช้พื้นที่ตลอด 2 ข้างทางร่วม 10,000 ไร่

ขณะนี้พร้อมส่งมอบ 3,151 ไร่ หรือคิดเป็น 88% ของพื้นที่ทั้งหมด ยังมีพื้นที่อุปสรรค 2 ส่วน คือ พื้นที่บุกรุก 210 ไร่ มีผู้บุกรุกเบื้องต้น 513 ราย อาทิ ย่านประดิพัทธ์ 29 หลัง พระราม 6-พญาไท 81 หลัง หัวหมาก 27 หลัง วัดเสมียนนารี 32 หลัง บางละมุง 159 หลัง พัทยา-บ้านห้วยขวาง 95 หลัง เขาชีจรรย์ 3 หลัง

ที่เหลือกระจายไปอยู่บริเวณมักกะสัน คลองตัน 9 หลัง เขาพระบาท 30 หลัง บางแสน 1 หลัง ดอนสีนนท์ 2 หลัง พานทอง-ชลบุรี 10 หลัง ลาดกระบัง 15 หลัง คลองหลวงแพ่ง 13 หลัง และมีพื้นที่เช่าของ ร.ฟ.ท.รวม 83 สัญญา 210 ไร่

ทั้งนี้ การส่งมอบคงไม่สามารถระบุเป็นวันเดือนปีอย่างที่ ซี.พี.ต้องการได้ จะระบุแค่ว่าแต่ละพื้นที่จะใช้เวลาเคลียร์กี่ปีนับจากวันลงนามในสัญญา ซึ่งพื้นที่บุกรุกใช้เวลา 2 ปี มีสัญญาเช่า 1 ปี ขณะที่พื้นที่เวนคืนกำลังเร่งรัดออก พ.ร.ฎ.เวนคืน จะใช้เวลา 2 ปี

“คณะทำงานจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ ซี.พี.และต้องดูแผนก่อสร้างของ ซี.พี.ว่าจะเข้าพื้นที่ได้จุดใดก่อน ไม่เกินปลายเดือน ก.ค.นี้น่าจะเซ็นสัญญาได้”

ส่วนการเคลียร์เรื่องสาธารณูปโภคกีดขวางเส้นทาง เช่น สายไฟแรงสูง ท่อประปา ท่อน้ำมัน ก็ต้องมาหารือว่ามีจุดไหนจะต้องรื้อย้ายจริง ๆ ถ้ามี ร.ฟ.ท.จะประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ แต่ถ้าจุดไหนที่ ร.ฟ.ท.เห็นว่าไม่ต้องย้ายก็ไม่จำเป็นต้องย้าย ส่วนการทุบตอม่อโฮปเวลล์กว่า 200 ต้น ยังไม่ได้ข้อยุติว่าใครจะเป็นคนทุบ

สำหรับแผนการส่งมอบพื้นที่ TOD (พื้นที่เชิงพาณิชย์) ปัจจุบันทำรังวัดแล้ว พื้นที่มักกะสันมีพื้นที่รวม 142.26 ไร่ พร้อมส่งมอบ 132.95 ไร่ อีก 9.31 ไร่ติดพื้นที่พวงราง โดย ร.ฟ.ท.จะให้งบฯสำหรับดำเนินการรื้อย้าย 300 ล้านบาทกับ ซี.พี.ไปดำเนินการเอง ส่วนศรีราชามีพื้นที่ 27.45 ไร่ พร้อมส่งมอบทั้งหมด แต่ ซี.พี.จะต้องออกค่าใช้จ่ายสร้างแฟลตทดแทนให้พนักงานรถไฟบริเวณนั้น จำนวน 3 อาคารก่อน