‘เซ็นทรัล’เมินบางซื่อแปลงA รถไฟชง2แนวทางประมูลใหม่-ยุติร่วมทุน

ตามคาด “เซ็นทรัล-BEM-ช.การช่าง” เมินยื่นซองประมูลมิกซ์ยูส 1.1 หมื่นล้าน หวั่นสถานีกลางบางซื่อไม่ปัง ผู้โดยสารมาใช้บริการน้อย เสนอ 2 แนวทางให้คณะกรรมการคัดเลือกเคาะ ปรับเงื่อนไขให้จูงใจ เปิดประมูลใหม่ หรือยุติร่วมทุน เปิดเช่าชั่วคราว 3 ปี ผุดตลาดนัดรถไฟดึงคนใช้สายสีแดงเปิดหวูด ม.ค. 64

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ ร.ฟ.ท.ได้เปิดยื่นประมูลซองพัฒนาเชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อแปลง A เนื้อที่ 32 ไร่ รูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 34 ปี ลงทุนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส มูลค่า 11,721 ล้านบาท เมื่อ 30 ก.ค. 2562 ผลปรากฏว่าไม่มีบริษัทเข้าร่วมยื่นซอง หลังมีเอกชน 4 รายซื้อทีโออาร์ ได้แก่ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ บจ.Urban Renaissance Agency รัฐวิสาหกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจากญี่ปุ่น

“การที่ไม่มีเอกชนสนใจประมูลเพราะอาจจะไม่มั่นใจว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการสถานีกลางบางซื่อจะเปิดเดือน ม.ค. 2564 อาจไม่ดึงดูดคนมาใช้บริการภายในโครงการมิกซ์ยูสที่เอกชนลงทุน เพราะยังมีแค่รถไฟชานเมืองสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่เปิดบริการ ส่วนรถไฟความเร็วสูงก็ยังอีกหลายปีกว่าจะได้เปิดบริการ และแปลงที่ดินที่จะพัฒนาอยู่ในทำเลที่มีทางรถไฟผ่ากลาง ใกล้ทางด่วนและท่อก๊าซ เลยไม่จูงใจเอกชน แต่มีบางรายบอกว่าเวลาเตรียมตัวน้อยเกินไป ทำเอกชนประมูลไม่ทัน”

แหล่งข่าวกล่าวว่า วันที่ 2 ส.ค.นี้ จะนำผลการประมูลเสนอให้คณะกรรมการคัดเลือกโครงการ ที่มีนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เป็นประธานพิจารณา โดยจะนำเสนอ 2 แนวทาง คือ 1.ประมูลใหม่ โดยปรับรายละเอียดทีโออาร์ใหม่ให้น่าสนใจมากขึ้น และ 2.ยุติการให้เอกชนร่วมทุน แล้ว ร.ฟ.ท.อาจจะนำที่ดินปล่อยเช่าชั่วคราว 3 ปี ทำเป็นตลาดนัดรถไฟ เพื่อดึงคนมาใช้บริการสายสีแดงที่จะเปิดบริการในปี 2564

สำหรับที่ดินแปลง A อยู่ห่างสถานีกลางบางซื่อ 50-100 เมตร ซึ่งคณะกรรมการ PPP เห็นชอบในหลักการของโครงการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ภายใต้รูปแบบ BOT คือ สร้าง บริหาร และโอนกรรมสิทธิ์ให้ ร.ฟ.ท. เมื่อครบกำหนดสัญญา ตามผลศึกษาจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร มีสำนักงานและธุรกิจบริการ เช่น โรงแรมระดับ 3-4 ดาว สำนักงานให้เช่า และดีพาร์ตเมนต์สโตร์ โดย ร.ฟ.ท.คาดว่าจะได้ผลตอบแทนทั้งหมด 2,000 ล้านบาท โดยเอกชนที่ชนะประมูลจะต้องจ่ายเงินก้อนแรกให้กับ ร.ฟ.ท. จำนวน 162 ล้านบาท จากนั้นจ่ายเป็นรายปี และมีปรับค่าเช่าเพิ่มขึ้นทุกปี

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!