ยิ่งแก้ยิ่งติดพระราม 2 จราจรแน่น 3 ปี ด่วนใหม่ 2 เส้นทับซ้อน-ทำใจรถวิ่งวันละ2.2แสนคัน

ถนนพระราม 2 การจราจรอัมพาต 3 ปี คมนาคมลงเข็มบิ๊กโปรเจ็กต์ ดีเดย์ ส.ค.ทางหลวงเปิดไซต์สร้างทางยกระดับหมื่นล้าน “บางขุนเทียน-เอกชัย” 10 กม. พร้อมปรับปรุงถนนด้านล่าง เป็น 14 เลน ด้าน กทพ.จ่อปักตอม่อทางด่วนใหม่ 3 หมื่นล้าน “พระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนฯ” เปิดใช้ปี’65 “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” สั่งรับมือรถ 2.2 แสนคัน จำกัดเวลารถบรรทุกเข้าพื้นที่ ขอให้ประชาชนอดทน ลั่นสร้างเสร็จปัญหารถติดทุเลา เดินทางลงใต้ฉลุย

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน ส.ค.นี้จะเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย 1

ระยะทาง 10.8 กม. วงเงิน 10,500 ล้านบาท แบ่งสร้าง 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 วงเงิน 4,000 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าเอ็นทีเอ สัญญาที่ 2 วงเงิน 4,000 ล้านบาท บจ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง และสัญญาที่ 3 วงเงิน 2,500 ล้านบาท บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ โดยสร้างเชื่อมกับทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

ส.ค.ลงเข็มทางยกดับพระราม 2

“ทางยกระดับจะสร้างพร้อมขยายถนนพระราม 2 เป็น 14 เลน ซึ่งกรมกำลังสร้างจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 11.700 กม. วงเงิน 2,300 ล้านบาท จะเสร็จปี 2563 ส่วนทางยกระดับจะสร้าง 3 ปี เสร็จปี 2565”

เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้การจราจรถนนพระราม 2 เฉลี่ยอยู่ที่ 220,000 เที่ยวคันต่อวัน คล่องตัวขึ้นเพราะด้านล่างจะมีถนน 14 ช่องจราจร ด้านบนจะเป็นทางยกระดับ ในอนาคตกรมจะเก็บค่าผ่านทาง โดยงานระบบอยู่ในช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 15 กม. จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ก่อสร้างและรับสัมปทานค่าผ่านทางตลอดเส้นทาง 25 กม. 33 ปี ก่อสร้าง 3 ปี บริหารโครงการ 30 ปี มูลค่า 48,310 ล้านบาท จะเริ่มในปี 2563-2565 จะเก็บค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ 10+2.5 บาท/กม. รถ 6 ล้อ 16+3.2 บาท/กม. และมากกว่า 6 ล้อ 23+4.6 บาท/กม.

“ช่วงก่อสร้างต้องบริหารการจราจรที่จะกระทบมากขึ้น เพราะเป็นย่านที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่ถนนเดิมไม่ได้ขยายมานาน ทำให้ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพเมือง กรมจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงก่อสร้าง” นายอานนท์กล่าวและว่า กรมกำลังขยายคันทางเดิมถนนพระราม 2 จาก 10 ช่องจราจร เป็น 14 ช่องจราจร ในช่องทางขนานจาก 2 เป็น 3 ช่องจราจร และในช่องทางหลัก จาก 3 เป็น 4 ช่องจราจร พร้อมยกระดับสูงขึ้น และสร้างสะพานกลับรถเพิ่ม 2 แห่ง ที่แสมดำ และก่อนถึงซอยพันท้ายนรสิงห์

แบ่งสร้าง 3 ตอน 1.ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-แสมดำ 3.5 กม. มี บจ.บุญสหะการสร้าง เป็นผู้ก่อสร้าง 2.แสมดำ-ซอยพันท้ายนรสิงห์ 4.1 กม. มี บจ.แสงชัยโชค ก่อสร้าง และ 3.ซอยพันท้ายนรสิงห์-มหาชัยเมืองใหม่ 4.1 กม. มี บจ.เอ็ม ซี คอนสตรัคชั่น (1979) ก่อสร้าง ทั้งหมดเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษของกรม จึงไม่มีปัญหาเรื่องทิ้งงาน

บริหารจราจรรับมือรถติด

จากปัญหารถติด พบว่ามี 3 จุด 1.กม. 13+500 ขาเข้า เหลือช่องจราจร 1 ช่อง มีรถจากทางขนานวิ่งตัดเข้าสู่เส้นทางหลัก เกิดการชะลอตัวของรถและเป็นจุดจอดรถประจำทาง จะลดการตัดกระแสจราจรและย้ายจุดจอดรถ 2.ซอยพันท้ายนรสิงห์ฝั่งขาออก เป็นแหล่งชุมชน มีสถานประกอบการ โรงงาน ที่พักอาศัยจำนวนมาก มีรถเข้า-ออกจากซอยสูง โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งตรงนี้จะวางท่อระบายน้ำในช่องทางขนาน จึงเหลือ 1 ช่องจราจร จะเร่งรัดก่อสร้างและคืนผิวจราจรต้นเดือน ส.ค.นี้ และ 3.ฝั่งตรงข้ามซอยวัดพันท้ายนรสิงห์ ฝั่งขาเข้าที่ 1 ช่องจราจร ทำให้มีรถติดสะสม เหลือเร่งก่อสร้างพร้อมปูผิวจราจรให้แล้วเสร็จครบ 3 ช่องจราจรเมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา

“การก่อสร้างคืบหน้า 38% ช้าอยู่ 18% ติดรื้อย้ายสาธารณูปโภค และสภาพพื้นที่เป็นดินอ่อน ต้องใช้ทรายถมเพิ่มความแข็งแรง ต้องรอทรายเซตตัว 180 วันถึงลงหินคลุกก่อสร้าง จะเร่งให้เสร็จสิ้นปี 2563”

ศักดิ์สยามขอให้อดทน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัญหารถติดบนถนนพระราม 2 ได้ออก 2 มาตรการเร่งด่วน คือ 1.จำกัดการวิ่งของรถบรรทุกช่วงเร่งด่วนเช้า-เย็น 2.ให้รถบรรทุกที่สัญจรหน้าวัดพันท้ายนรสิงห์ไปกลับรถที่จุดกลับรถถัดไป 1 กม.

“การก่อสร้างบริเวณวัดพันท้ายนรสิงห์และอีก 2 จุด จะคืนพื้นผิวจราจรบางส่วนได้ แต่จะต้องไปเปิดการจราจรในบริเวณถัดไป ไม่ควรเปิดตรงข้ามกัน ไม่ให้เกิดคอขวด อาจจะเปิดช่องจราจรพิเศษในฝั่งที่จราจรสะสมน้อย ให้จราจรคล่องตัวขึ้น แต่เมื่อโครงการขยายถนนทั้ง 3 ช่วงแล้วเสร็จ จะบรรเทาปัญหาจราจรได้”

สำหรับแผนการก่อสร้างทางยกระดับช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย 1 ระยะทาง 10.8 กม. ที่จะสร้างบนเกาะกลางถนนพระราม 2 หลังเซ็นสัญญาแล้ว ให้เร่งเข้าพื้นที่และก่อสร้างไปพร้อมกับการขยายถนนพระราม 2 ซึ่งขอให้ประชาชนอดทน คาดว่าการก่อสร้างจะรวดเร็วขึ้นและเมื่อแล้วเสร็จการจราจรจะบรรเทา

กทพ.จ่อสร้างด่วนพระราม 3

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก 18.7 กม. จะสร้างบนเกาะกลางถนนพระราม 2 ทาง กทพ.รออนุมัติผลประมูลงานโยธา 4 สัญญา วงเงิน 29,154.230 ล้านบาท หลัง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ร้องเรียนผลประมูลที่ทำผิดขั้นตอนไม่ประกาศคุณสมบัติผู้ผ่านการพิจารณาก่อนเปิดซองราคา ได้แก่ 1.ทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม. มีกิจการร่วมค้า CNA ประกอบด้วย บจ.ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่นฯ, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) เสนอต่ำสุด 5,897 ล้านบาท 2.ทางยกระดับจากเซ็นทรัลพระราม 2-โรงพยาบาลบางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กม. มีกิจการร่วมค้าซีทีบี (ไชน่า ฮาร์เบอร์-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง) เสนอต่ำสุด 6,440 ล้านบาท

3.ทางยกระดับจากโรงพยาบาลบางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ระยะทาง 5 กม. มีกิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ประกอบด้วย บจ.China Railway 11th Bureau Group Corporation, บจ.ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง และ บจ.บุญชัยพาณิชย์ (1979) เสนอต่ำสุด 6,098 ล้านบาท และ 4.งานสะพานขึงข้ามแม่น้ำคู่ขนานสะพานพระราม 9 เชื่อมทางด่วนปัจจุบัน มี บมจ.ช.การช่าง เสนอต่ำสุด 6,636 ล้านบาท

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. กล่าวว่า ต้องตรวจสอบข้อร้องเรียนบางประการที่มีผลอย่างนัยสำคัญ จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์เกี่ยวกับเทคนิคที่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณา แต่ไม่ได้ติดปัญหาทุกสัญญา มีเพียงสัญญาเดียว คาดว่าภายในปีนี้จะเริ่มสร้างได้ ตามแผนจะใช้เวลาสร้าง 39 เดือน แล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2565

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อร้องเรียนที่ยังทำให้บอร์ด กทพ.ไม่อนุมัติผลประมูลเพราะมีผลงานของรับเหมาไทยบางรายที่เป็นคอนซอร์เตี้ยมกับจีนไม่ผ่านคุณสมบัติ

 

ปิ่นเกล้า-เพชรเกษม-เอกชัย 3 ทางเลี่ยงหนีรถติด “พระราม 2”

ถนนพระราม 2 หรือชื่อทางการทางหลวงหมายเลข 35 ธนบุรี-ปากท่อ ปัจจุบันขึ้นแท่นเป็น “ถนนเจ็ดชั่วโคตร” จากสภาพถนนที่มีการก่อสร้างอยู่ตลอดเวลา

ล่าสุดกำลังกลายเป็นดราม่ากระหน่ำ “กรมทางหลวง” หลังเปิดหน้าดินเดินหน้าโครงการปรับปรุงเส้นทางช่วง “ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย” ระหว่าง กม.9+800.000-กม.21+500.000 ระยะทางประมาณ 11.7 กม. ยิ่งซ้ำเติมการจราจรถนนพระราม 2 ติดหนึบมากยิ่งขึ้น ในช่วงระหว่างก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อการจราจร “กรมทางหลวง” แนะใช้ 3 เส้นทางเลี่ยง (ดูแผนที่)

1.จากถนนกาญจนาภิเษกใช้ถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี (ทล.338) สำหรับเดินทางลงภาคใต้

2.จากถนนกาญจนาภิเษกใช้ถนนเพชรเกษม (ทล.4) สามารถเข้าถนนเศรษฐกิจแล้วเข้าสู่ถนนพระราม 2 ที่ทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร

และ 3.จากถนนกาญจนาภิเษกใช้ถนนเอกชัย-บางบอน สามารถเข้าถนนพระราม 2 ที่ กม.21+500 (บริเวณมหาชัยเมืองใหม่ได้)