“กลางดง-ปางอโศก” สร้างเสร็จ ก.ย. 62 รถไฟไทย-จีนประมูลเพิ่ม 5 หมื่นล้าน

คอลัมน์ เวนคืนอัพเดต

ยังคงอยู่ในความสนใจ โครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทย เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. มูลค่า 179,413 ล้านบาท

โปรเจ็กต์ความร่วมมือของประเทศไทยและประเทศจีน ที่ผลักดันกันมาตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2557 นับแต่ก้าวแรกที่ “รัฐบาล คสช.” เข้ามาบริหารประเทศ

มี “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ ตัดแบ่งการก่อสร้างเป็น 14 สัญญา แต่กว่าจะได้ฤกษ์เริ่มต้นคิกออฟโครงการก็ล่วงเข้าสู่ปลายปี 2560

โดย “กรมทางหลวง” เป็นผู้เนรมิตงานถมคันดินช่วงแรกระยะทาง 3.5 กม. จากสถานีกลางดง-ปางอโศก วงเงิน 425 ล้านบาท

ถึงระยะทางจะสั้น แต่ด้วยประเทศไทยไม่เคยมีประสบการณ์ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงมาก่อน จึงทำให้งานที่ดูเหมือนจะง่ายกลายเป็นงานยากไปโดยปริยาย เพราะทุกอย่างต้องผ่านการตรวจสอบจาก “จีน” เจ้าของเทคโนโลยีที่รีเช็กละเอียดยิบ

เฟสแรก 3.5 กม.คืบหน้า 58%

นับจากวันที่เริ่มลงเข็มก่อสร้างปลายปี 2560 ผ่านมาถึงปัจจุบันมีความก้าวหน้า 58% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ ล่าช้าจากแผนเดิมต้องเสร็จตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561

นายไพจิตร แสงทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 6 (เพชรบูรณ์) นายช่างผู้ควบคุมโครงการฉายภาพให้ฟังว่า การดำเนินงานก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในส่วนของกรมทางหลวงถือเป็นต้นแบบในการดำเนินงานในช่วงต่อ ๆ ไปของโครงการ

การดำเนินการจะมีการตรวจสอบและทดสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ของวัสดุ อุปกรณ์ ตลอดการดำเนินงานจากที่ปรึกษาของจีนอย่างละเอียดตั้งแต่การจัดหาวัสดุ การตรวจสอบวัสดุ การควบคุมงาน การปฏิบัติงานแต่ละชิ้นงานจะมีการทดสอบ ซึ่งต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานที่จีนกำหนด ต้องผ่านการตรวจสอบให้ตรงตามกำหนด 100%

“ปัจจุบันการก่อสร้างอยู่ชั้นวัสดุก่อสร้างไปถึงชั้น top layer กำลังขึ้นชั้นที่ 2 จากทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นที่หนึ่งปูไปได้ประมาณ 2 กม. จะเห็นความคืบหน้าชัดเจนเมื่อชั้น top layer แล้วเสร็จในช่วงเดือน ก.ค. สำหรับการก่อสร้างส่วนที่เหลือจะเป็นงานคอนกรีตที่จะใช้เวลาน้อยกว่างานโยธาในช่วงแรก”

นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังเปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงที่คอยสนับสนุนเรื่องขององค์ความรู้ของมาตรฐานการทำงานต่าง ๆ ที่จะมีบริษัทผู้รับจ้างในสัญญาการก่อสร้างทางช่วงที่ 2-5 เข้ามาศึกษาดูงาน ดังนั้น โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของกรมทางหลวงในโอกาสสำคัญในการเก็บรวบรวมประสบการณ์และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรฐานและจัดทำเป็นคู่มือสำหรับใช้ในการดำเนินงานของกรมทางหลวงต่อไป

รอบอร์ดเคาะเซ็น 2 สัญญา

ขณะที่กรมทางหลวงกำลังปิดจ็อบเฟสแรก งานสัญญาที่ 2 ระยะทาง 11 กม. สร้างจาก “สีคิ้ว-กุดจิก” มี “บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด” เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ด้วยวงเงิน 3,115 ล้านบาท ปัจจุบันเข้าพื้นที่ก่อสร้างแล้วเมื่อสิ้นเดือน เม.ย. 2562 มีความคืบหน้า 1.5% ตามแผนจะแล้วเสร็จไตรมาส 2 ของปี 2563

งานก่อสร้างที่เหลืออีก 238.5 กม. ทาง “ร.ฟ.ท.” กำลังทยอยประมูล ตั้งเป้าจะได้ผู้รับเหมาก่อสร้างและเริ่มงานทุกสัญญาในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ มีกำหนดสร้างเสร็จไตรมาส 2 ของปี 2565

กำลังรออนุมัติผลประมูล 2 สัญญา จากคณะกรรมการ (บอร์ด) วันที่ 5 ส.ค.นี้ ได้แก่ สัญญาช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. ราคากลาง 13,293 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 11,525 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,768 ล้านบาท หรือ 13.30%และสัญญาช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. ราคากลาง 10,917 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ซิโนไฮโดร จำกัด บริษัท สหการวิศวกร จำกัด และบริษัท ทิพากร จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 8,626 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 2,291 ล้านบาท หรือ 20.98%

ขณะเดียวกันกำลังตรวจสอบผลการเสนอราคาอีก 3 สัญญา รวม 99.26 กม. วงเงิน 33,958 ล้านบาท ประกอบด้วย สัญญาช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บ้านม้า 30.21 กม. เป็นงานระดับดิน 10.18 กม. และยกระดับ 20.03 กม. วงเงิน 11,064 ล้านบาท มี บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่ง เสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 15.7% หรือ 1,736 ล้านบาท

สัญญาช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด 37.45 กม. เป็นงานระดับดิน 14.12 กม. และยกระดับ 23.33 กม. วงเงิน 11,656 ล้านบาท มี บจ.บีพีเอ็นพี (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) เสนอราคาต่ำสุด 9,788 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16% หรือ 1,864 ล้านบาทและสัญญาช่วงพระแก้ว-สระบุรี 31.60 กม. เป็นงานระดับดิน 7.02 กม. และยกระดับ 24.58 กม. วงเงิน 11,240 ล้านบาท มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เสนอราคาต่ำสุด 9,429 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16.1% หรือ 1,809 ล้านบาท โดยทั้ง 3 สัญญาผู้รับเหมายื่นต่ำกว่าราคากลาง คิดเป็นวงเงินรวม 9,468 ล้านบาท

30 ส.ค.ประมูล 5.4 หมื่นล้าน

ล่าสุดเพิ่งประกาศทีโออาร์ประมูลอีก 6 สัญญา วงเงินรวม 54,975.219 ล้านบาท ได้แก่ สัญญาช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 10,421.014 ล้านบาท, สัญญาช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 11,801.216 ล้านบาท, สัญญางานศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 6,093.037 ล้านบาท, สัญญาช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 9,257.373 ล้านบาท, สัญญาช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. วงเงิน 12,043.417 ล้านบาท และสัญญางานอุโมงค์ช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 5,359.162 ล้านบาท จะให้เคาะราคาภายในวันที่ 30 ส.ค.นี้

ยังเหลือช่วงสุดท้าย บางซื่อ-ดอนเมือง วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ระยะทางกว่า 10 กม. ทาง ร.ฟ.ท.ต้องชะลอการประมูลไว้ก่อน เนื่องจากต้องรอความชัดเจนพื้นที่ทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กลุ่ม ซี.พี.เป็นผู้ก่อสร้าง

ด้านความก้าวหน้าของสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องจักรกลที่ต้องใช้เทคโนโลยีจากจีนเคาะราคาสุดท้ายแล้วอยู่ที่ 50,600 ล้านบาท ซึ่งในก้อนนี้เป็นค่างานโยธาที่ใส่ไว้ผิดที่ผิดทาง 7,000 ล้านบาท แล้วก็เป็นงบฯที่เพิ่มจากการเปลี่ยนรุ่นรถจาก “เหอเสีย” ราคาขบวนละ 700-800 ล้านบาท เป็นรถรุ่นใหม่ชื่อ “ฟู่ซิ่งเฮ่า” ทำให้ราคาต่อขบวนอัพขึ้นอยู่ที่ขบวนละ 1,200 ล้านบาท

ยังเกินจากกรอบที่ “ครม.-คณะรัฐมนตรี” อนุมัติไว้ 38,558 ล้านบาท ต้องเสนอให้ ครม.อนุมัติถึงจะเซ็นสัญญาได้ ขณะที่รอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา

หากไม่มีอะไรเข้าแทรก ไม่เกินสิ้นปีนี้ ทุกอย่างน่าจะเดินหน้าฉลุยทั้งงานโยธาและระบบ

แต่ก็ยังมีงานใหญ่ที่ ร.ฟ.ท.ต้องเร่งเคลียร์ นั่นคือการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง จนถึงขณะนี้ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินยังไม่คลอด โดยตลอดแนวมีเวนคืนที่ดิน 2,815 ไร่ วงเงิน 13,096 ล้านบาท งานหินต้องย้ายท่อก๊าซ ปตท.ออกจากแนวเส้นทาง 40 กม.ช่วงกรุงเทพฯ-ชุมทางบ้านภาชี ซึ่งจะต้องปรับแบบและขยับแนวใหม่


โครงการจะเปิดหวูดได้ปีไหน คงต้องลุ้นกันอีกที เพราะเวลานี้เป้าในปี 2564 คงเข็นไม่ขึ้นแล้ว !