“อธิรัฐ”ขอ6เดือนจัดระเบียบน่านน้ำ เริ่ม”คลองแสนแสบ-เจ้าพระยา”เท800ล.ผุดสถานีเรือเทียบชั้นรถไฟฟ้า

เมื่อเวลา 09.30 น. นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงานครบรอบวันสถาปนา 160 ปี กรมเจ้าท่าและมอบนโยบาย โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านขนส่ง และนายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่าให้การต้อนรับ

นายอธิรัฐเปิดเผยหลังมอบนโยบายว่า สิ่งที่จะเน้นเป็นอันดับแรกคือ งานด้านความปลอดภัย ทางทะเลก็ให้กรมเตรียมติดตั้งระบบ GPS ตรวจจับเรือที่จะเข้ามาในน่านน้ำประเทศไทย ส่วนทางน้ำในประเทศ จะกำกับให้มีการใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ให้เข้มข้นมากขึ้นครอบคลุมทั้งงานด้านการควบคุมสภาพเรือ ท่าเทียบเรือต่างๆ

@เห็นผล 6 เดือน

นอกจากนี้ จะต้องยกระดับความปลอดภัย โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดขึ้น จะเริ่มที่คลองแสนแสบและช่วงแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพฯก่อน จะครอบคลุมทั้งท่าเรือ เรือ และพื้นที่รุกล้ำทางลำน้ำ โดยใน 6 เดือนนี้ จะใช้วิธีพูดคุยขอความร่วมมือและตักเตือนไปก่อนกับเอกชนที่เกี่ยวข้องให้ทำตามกฎหมายก่อน โดยช่วงนี้จะยังไม่จับกุมหรือดำเนินการตามกฎหมาย แต่ในเบื้องต้นต้องขอลงไปตรวจงานด้วยตัวเอง เพื่อรับทราบปัญหาให้ชัดเจนก่อน ส่วนกรมเองจะต้องยกระดับมาตรฐานการทำงานให้สูงกว่ามาตรฐานเดิม

“ขอบเขตงานของกรมเจ้าท่าจะต้องช่วยแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้งด้วย โดยต้องประสานการทำงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย”

@ปูพรมยกเครื่องท่าเรือ 19 ท่า

ขณะเดียวกันจะต้องคำนึงถึงการเดินทางเชื่อมต่อน้ำ-ราง-บก-อากาศ เริ่มต้นจะให้พัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเขตกรุงเทพทั้ง 19 ท่าให้เป็น “สถานีเรือ” ให้เป็นมาตรฐานแบบเดียวกับสถานีรถไฟฟ้า คือให้มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น มินิมาร์ทขนาดเล็ก เป็นต้น ให้ประชาชนได้ใช้สอยด้วย ใช้งบประมาณดำเนินการรวม 800 ล้านบาท คาดว่าจะพัฒนาจนครบทั้งหมดภายในปี 2565 จะทำให้ศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารตลอดสายทางแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่วันละ 50,000-70,000 คน/วัน เป็น 200,000 คน/วัน

ด้านนายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า ขยายความว่า เริ่มแรกจะพัฒนานำร่องที่ท่าเรือสาทรก่อน เนื่องจากเป็นท่าเรือที่มีปริมาณผู้ใช้บริการสูงถึง 50,000 คน/วัน และในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น วันปีใหม่ ผู้ใช้งานท่าเรือจะพุ่งสูงถึง 100,000 คน/วัน

ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เนื่องจากเป็นท่าเรือที่รองรับการใช้งานหลากหลาย ทั้งรับส่งโดยสารประจำทาง รับส่งโรงแรมในบริเวณใกล้เคียง และรับส่งไปศูนย์การค้าใหญ่ 2 แห่งคือ ไอคอนสยาม และเอเชียทีค

โดยกรมเจ้าท่าจะดำเนินการปรับปรุงงานโครงสร้างพื้นฐานบริเวณท่าเรือทั้งหมด ใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2563 เมื่อเสร็จแล้วจะมีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 200,000 คน/วัน

“หลังจากนั้น ในระยะต่อไปจะเริ่มดำเนินการที่ท่าเรือท่าช้างและท่าเรือท่าเตียนตามลำดับ ทั้ง 2 ท่าอยู่ระหว่างรอสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในฐานะเจ้าของที่ดินเห็นชอบ”

@ชงแก้มติ ครม.ทำการค้ารอบท่าเรือ

นอกจากนี้ กรมจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้แก้ไขมติ ครม.เมื่อเดือน พ.ค. 2536 ที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ท่าเรือเฉพาะบริการสาธารณะ ไม่สามารถนำไปทำเชิงพาณิชย์ได้ เปลี่ยนเป็นให้สามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ในบริเวณท่าเรือได้ หาก ครม.เห็นชอบแล้ว กรมธนารักษ์จะเข้ามาเป็นผู้ประกาศจัดซื้อจัดจ้างเรื่องงานระบบ เนื่องจากมีส่วนที่ต้องแบ่งรายได้ให้ต้องทำตามระเบียบของกรมธนารักษ์

ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะกรรมการคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการและขนส่งสินค้า (กบส.) ทำหน้าที่เสนอเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงพิจารณา เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป