เผยผลการทดสอบรับน้ำหนักบรรทุกสะพานพระราม 5 โครงสร้างแข็งแรง ใช้งานได้อย่างปลอดภัย

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีภารกิจดูแลบำรุงรักษาสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในความรับผิดชอบ ประกอบด้วย สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ทช.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

ได้แก่ สะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2 สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ และสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้รับการถ่ายโอนมาจากกรมโยธาธิการ ได้แก่ สะพานพระราม 4 สะพานพระราม 7 สะพานกรุงธน สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สะพานพระปกเกล้า สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สะพานตากสิน) สะพานพระราม 3 สะพานกรุงเทพ และสะพานพระราม 5

นอกจากการบำรุงรักษาสะพานในช่วงเวลาปกติเป็นประจำ ซึ่งเป็นการบำรุงรักษาเฉพาะในส่วนที่ไม่ใช่โครงสร้างหลัก ได้แก่ ทางเท้า ราวสะพาน การปรับปรุงภูมิทัศน์สภาพโดยรอบให้สวยงาม รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้การจราจรทั้งทางบกและทางน้ำ เป็นต้น

ทช.ยังได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างสะพานที่อยู่ในความรับผิดชอบ โดยเป็นการดำเนินการตามวงรอบ ภายใต้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ อันจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจต่อการใช้งานสะพานได้อย่างปลอดภัย ยืดอายุการใช้งานสะพาน รวมถึงสามารถนำข้อมูลที่ได้ประกอบในการพิจารณาจัดทำแผนการปรับปรุง ซ่อมแซม สะพาน ได้ตรงตามวัตถุประสงค์และมีประสิทธิภาพ

อาทิ ตัวอย่างที่ผ่านมา ทช.ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ความมั่นคงแข็งแรง สะพานพระราม 5 โดยทำการปิดการจราจร แล้วทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกบนสะพานด้วยน้ำหนักบรรทุกจริงตามกฎหมายกำหนด เพื่อประเมินสภาพความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้าง และความสามารถในการรับน้ำหนักบรรทุกบนสะพาน ซึ่งผลปรากฏว่าโครงสร้างหลักของสะพานพระราม 5 นั้น มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถรองรับการใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ ในอนาคต ทช.จะดำเนินการตรวจวิเคราะห์ความมั่นคงแข็งแรงของสะพาน ด้วยการทดสอบการรับน้ำหนักบรรทุกกับสะพานอื่น ๆ และจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป