บิ๊กโฮมโปร “วีรพันธ์ อังสุมาลี” ลงทุนไทย-CLMV อย่างระมัดระวัง

สัมภาษณ์พิเศษ

“โฮมโปร” เจ้าตลาดโมเดิร์นเทรดวัสดุและของตกแต่งบ้านในเครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ประกาศผลงานโดดเด่นสวนทางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผ่านครึ่งทางของปี 2562 ด้วยยอดขายเติบโตจนน่าอิจฉา “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “พี่ต๋อง-วีรพันธ์ อังสุมาลี” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ครึ่งปีแรกที่ผ่านมาทำอะไรลุล่วงไปแล้ว รวมทั้งแผนงานบุกทะลวงลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง

Q : อัพเดตโมเดลธุรกิจโฮมโปร

ครึ่งปีแรกรายได้เดินมาครึ่งทาง (ยิ้ม) จากเป้าทั้งปี 60,000 ล้าน ปัจจุบันเรามี 109 สาขา แบ่งเป็นโฮมโปรใหญ่ 83 สาขา, โฮมโปร S 8 สาขา โฮมโปรในมาเลเซีย 6 สาขา และเมกาโฮมซึ่งเป็นบริษัทลูกมี 12 สาขา

ปกติเราแบ่งสโตร์ออกเป็นไซซ์ S, M, L และ XL ถ้าโฮมโปร S พื้นที่ 5,000 ตารางเมตร, โฮมโปรไซซ์ M พื้นที่ 5,000-7,000 ตารางเมตร โฮมโปรไซซ์ L พื้นที่ 7,000 ตารางเมตรขึ้นไปจนถึง 10,000-20,000 ตารางเมตร

แต่ถ้าวัดในเทอมยอดขาย เฉลี่ยโฮมโปร 1 สาขามีตั้งแต่ 20-150 ล้าน/เดือน กรณีโฮมโปรไซซ์ XL หมายถึงมียอดขาย 130 ล้าน/เดือน ปัจจุบันมี 3-4 สาขาในระดับนี้

แผนลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง มีเป้าหมายเปิดโฮมโปร S เพิ่ม 1 สาขา เมกาโฮม 12 สาขา โฮมโปรอีก 1 สาขา มูลค่าลงทุนเฉลี่ยของโฮมโปร 300-500 ล้าน รวมที่ดินด้วยนะ

ที่เพิ่งเปิดตัวไปล่าสุดคือโฮมโปร มุกดาหาร, โฮมโปร S ที่ไปลงทุนในโครงการมิกซ์ยูส สามย่านมิตรทาวน์ และมีสาขาเพิ่มในย่าน EEC ที่วางแผนเปิดบริการปลายปีนี้ จะเห็นว่าตลาดอีอีซี (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) เป็นพื้นที่รัฐบาลโปรโมตการลงทุน ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์โตขึ้นเยอะ ต้องมีคนทำงาน และต้องมีบ้านพักอาศัย ทั้งหมดนี้เป็นดีมานด์ของเราทั้งนั้น

Q : เรื่องใหม่ครึ่งปีหลัง

ใหม่แบบแยกออกมาเลยไม่มี แต่เรื่องใหม่ตลอดเวลาคือการพัฒนาภายใน ปรับปรุงยกระดับประสิทธิภาพองค์กร ทั้งคนและสินค้าใหม่ ๆ เราทำตลอดเวลาจนเหมือนเป็นงานรูทีนอยู่แล้วครับ

อย่างงานโฮมโปรแฟร์ เราก็พัฒนาต่อยอดจากการแฟร์สินค้ามาเป็นงานแฟร์ไลฟ์สไตล์ ช็อป-ชิม-ชิล ทำมา 3-4 ปีมาแล้ว ในต่างจังหวัดเราก็ไปจัดแต่ขนาดพื้นที่เล็กกว่างานแฟร์ในกรุงเทพฯ

นอกจากนี้เรามีเมกาโฮมซึ่งไม่ได้ขยายมา 2 ปีแล้ว หลังจากสร้างมา 12 สาขา ถึงเวลาต้องมาปรับประสิทธิภาพภายใน ปรับจูนสินค้า ฉะนั้นปี 2562 จะเป็นปีที่เริ่มกลับมาขยายเมกาโฮม ปรับเลย์เอาต์สินค้า กระบวนการทำงาน เราจะกลับมาลงทุนอีกแต่ต้องเลือกโลเกชั่นดี ๆ หน่อย ต้องระมัดระวัง

ถามว่า ของเดิมกับของใหม่เป็นยังไง ? โดยภาพลักษณ์เมกาโฮมด้านนอกเหมือนเดิม แต่ภายในต้องปรับเลย์เอาต์ เช่น ภาพรวมกลุ่มสินค้าช่างมีการเพิ่มสินค้ามากขึ้น เดิมอาจใส่น้อยไปหรือให้พื้นที่น้อยไป กระบวนการบริการ การจัดเลย์เอาต์สาขา พฤติกรรมลูกค้า ทุกอย่างถูกนำมาวิเคราะห์และรีโมเดลใหม่หมด

Q : ยอดขายต่างจังหวัด

ต่างจังหวัดยังไม่ดี ยิ่งจังหวัดท่องเที่ยวยังมีผลกระทบเยอะ โดยเฉพาะทัวร์จีน นักท่องเที่ยวจีนบางตาลง ในหัวเมืองภูมิภาคที่กำลังซื้อดียังคงเป็นเมืองหลัก เมืองท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และเมืองที่มีผลไม้เยอะ ๆ (ยิ้ม)

ส่วนกรุงเทพฯ เป็นตลาดใหญ่ที่สุดอยู่แล้ว กำลังซื้อยังพอมีอยู่เพราะฐานลูกค้าเป็นกลุ่มคนทำงานประจำ รายได้ค่อนข้างคงที่ จังหวัดจะมีดีก็เป็นจังหวัดที่มีผลไม้เยอะ ๆ

Q : การแข่งขันรุนแรงไหม

โมเดลธุรกิจที่เหมือนโฮมโปร เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเดียวกันต้องบอกว่า ไม่มีเลย อาจจะมีเหลื่อม ๆ กันบ้าง (โกลบอลเฮ้าส์ ไทวัสดุ) แต่ก็ไม่น่ากลัว สินค้าหมวดเฮาส์แบรนด์ตอนนี้มีสัดส่วน 19% เพิ่มขึ้นนิดหน่อย ซึ่งสินค้าเฮาส์แบรนด์เรามองเปอร์เซ็นต์มีโอกาสเติบโตกว่า มีสินค้าบางกลุ่มที่ยังโตได้ดีแต่ก็ไม่ได้โตทุกกลุ่ม เช่น เซรามิก เฮาส์แบรนด์โตเพราะในเมืองไทยบางทีไซซ์กระเบื้องใหญ่อาจไม่มี แต่จีน เวียดนามมี เราก็นำเข้ามา ปรากฏว่าพฤติกรรมลูกค้าใช้ไซซ์ใหญ่เพิ่มขึ้นเพราะฉะนั้นในแง่การแข่งขันจึงเป็นเรื่องการบริการเป็นหลัก

Q : การลงทุนต่างประเทศ

ตอนนี้มีโฮมโปรในมาเลเซีย 6 สาขา เป็นสาขาเล็ก 3,000-4,000 ตารางเมตร และอยู่ในห้าง เทียบกับเมืองไทยที่สาขาโฮมโปรเป็นสแตนด์อะโลน ยังปรับประสิทธิภาพอยู่ ปีหน้าในมาเลย์อาจยังไม่เห็นการลงทุนใหม่ ซึ่งไม่ใช่ทุกสาขายอดขายไม่ดี

เราเข้าไปมาเลย์ 5 ปี รู้ว่าแบบไหนดีกับการลงทุน คัลเจอร์เขากับเราต้องค่อย ๆ ปรับ พนักงานสาขาละ 30-40 คน

ต่างประเทศอื่น ๆ เราสนใจ CLMV โดยเวียดนามน่าจะโอกาสสูงสุด