คมนาคมขอครม. 3.3 พันล้าน อุดสายสีแดงขาดทุนปี’64 คาดคนนั่งไม่ถึง 8 หมื่นคน/วัน

ปลัดคมนาคมให้การบ้าน “รฟฟท.-ร.ฟ.ท.”เคลียร์สายสีแดงก่อนเสนอครม. เคาะวงเงินตั้งไข่ 3.3 พันล้าน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีมติเห็นชอบการเพิ่มภารกิจให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุงระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันและช่วงบางซื่อ-รังสิตแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการรอเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบนั้น

ที่ประชุมการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงจึงมีมติให้รฟฟท.และร.ฟ.ท.กลับไปบริหารจัดการร่วมกัน

1.อนุมัติการจัดตั้งคณะะกรรมการบริหารของ รฟฟท. โดยให้ยึดตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2518

2. การบริหารสถานีเชิงพาณิชย์ อนุมัติให้รฟฟท.ดำเนินการได้ทุกสถานียกเว้นสถานีบางซื่อและ สถานีดอนเมือง เนื่องจากบางซื่ออยู่ขอบข่ายการดูแลรวมของสถานีกลางบางซื่อ ส่วนดอนเมืองต้องไปกำหนดส่วนชานชาลาร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้ชัดเจน เพราะมีบางส่วนคาบเกี่ยวกันอยู่

3. การจัดสรรผลประโยชน์ระหว่าง ร.ฟ.ท. กับ รฟฟท. ให้ รฟฟท. มีอำนาจการบริหารแบบอิสระ หากเปรียบเทียบกับการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ก็เป็นในแนว Net Cost คือ รฟฟท.จะจัดเก็บรายได้เลี้ยงตัวเองทั้งหมด โดยทั้ง 2 หน่วยจะต้องไปกำหนดเงื่อนไขการแบ่งปันผลประโยชน์กันมาว่า ต้องกำไรเท่าไหร่จึงจะจ่ายผลตอบแทนให้เป็นจำนวนเท่านี้

4. กำหนดกรอบวงเงินเริ่มต้น 5 ปีแรก วงเงิน 3,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่คนร.เคยให้ไว้ว่า จะขอดูการดำเนินการในช่วง5 ปีแรกของ รฟฟท.ก่อน โดยร.ฟ.ท.จะเป็นผู้ของบประมาณให้ โดย ร.ฟ.ท.จะเป็นผู้ชำระเงินต้น ส่วน รฟฟท. จะเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ย โดยสำนักงบประมาณให้ทั้งสองหน่วยงานไปตรวจสอบเรื่องการลงบัญชีภาษีเพิ่มเติมมา

โดยปีแรกที่เปิดบริการในปี2564จะขอให้ก่อน 980 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในส่วนของค่าอะไหล่และชดเชยการขาดทุน ซึ่งประเมินว่าในปีแรกที่เปิดให้บริการจะขาดทุน 300 ล้านบาท มาจากจำนวนผู้โดยสารใช้บริการไม่ถึงยอดที่ตั้งไว้ 80,000 เที่ยวคน/วันและค่าจ้างพนักงานที่ต้องมีเพิ่มขึ้น ส่วนปีที่ 2-5 ยังไม่กำหนด

5. กำหนดอัตรากำลังเริ่มต้นของ รฟฟท.ที่ 806 คน ส่วนนอกเหนือจากนี้ให้ รฟฟท.จ้างพนักงานแบบชั่วคราว (Outsource) ไปก่อน และให้กระทรวงตั้งคณะกรรมการกำกับติดตามโครงการ เพื่อประเมินการดำเนินการด้านธุรกิจของ รฟฟท.

นอกจากนี้ ในที่ประชุมตัวแทนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้ข้อสังเกตว่า ให้ รฟฟท. มองภาพรวมของทั้งโครงการ จะต้องไปคิดว่า จะมีต้นทุนอะไรเพิ่มเติมบ้าง เมื่อส่วนต่อขยายต่างๆเปิดใช้ เช่น การซื้อรถใหม่ หรือการซ่อมสร้างในส่วนต่างๆเพิ่มเติม

และให้กลับไปวางแผนเตรียมพร้อมในช่วงถ่ายโอนจากแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ไปสายสีแดง ซึ่งรฟฟท.ต้องเดินรถควบคู่ทั้ง 2 ระบบไปอย่างน้อย 9 เดือน เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมีเงื่อนไขให้เอกชนที่ชนะโครงการรับมอบแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่เซ็นสัญญา

“หากเซ็นกันได้ในเดือนก.ย.นี้เท่ากับว่า กลุ่ม CPH จะต้องรับมอบแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ภายในเดือน ก.ย. 2564 ซึ่งจะเป็นปีที่เปิดใช้สายสีแดงในช่วงต้นปีเดียวกันพอดี ในช่วง 9 เดือนนี้”