“ชิดชอบ-ภูมิใจไทย” คุมเบ็ดเสร็จเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม 3 ล้านล้าน

คมนาคมกระทรวงเศรษฐกิจเกรดเอ ภายใต้ “รัฐบาลตู่ 2” มี “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรี กำกับ 3 รัฐมนตรี จาก 3 พรรคการเมือง เพื่อขับเคลื่อนแผนงาน-แผนเงินที่มีมูลค่าการลงทุนร่วม 3 ล้านล้าน

เป็นที่น่าสนใจไม่น้อย กรณี “เสี่ยหนู” มาคุมคมนาคมเอง ซึ่งมีงานก่อสร้างบานตะไท สปอตไลต์ฉายส่องไปที่ชื่อ “ซิโน-ไทยฯ” ธุรกิจรับเหมาใต้ปีกตระกูลชาญวีรกูล บิ๊กโฟร์รับเหมาก่อสร้างของเมืองไทย จะประทับตราบนโครงการขนาดใหญ่ได้มากน้อยแค่ไหน

ย้อนเวลาไปเมื่อครั้ง “โสภณ ซารัมย์” พรรคภูมิใจไทย นั่งเป็นใหญ่ “ซิโน-ไทยฯ” ก็คว้างานสร้างรถไฟฟ้าทั้งสายสีน้ำเงินและสีม่วง

แบ่งงาน 3 รัฐมนตรี

ขณะที่การแบ่งงานของ 3 รัฐมนตรีก็เรียบร้อยโรงเรียน “บิ๊กโอ๋-ศักดิ์สยาม” ที่กวาดเรียบหน่วยงานเกรดพรีเมี่ยมคุมโปรเจ็กต์ใหญ่บก-ราง ไม่ว่าถนน มอเตอร์เวย์ ทางด่วน รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน ยันรถเมล์ และ บขส. (ดูตาราง) คิดเป็นมูลค่าโครงการทะลุ 1 ล้านล้าน

ประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางราง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.)

ส่วน “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” รัฐมนตรีช่วยจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่รู้เป็นเพราะด้วยอายุที่น้อยสุดหรือไม่มีอำนาจต่อรอง ถึงได้กำกับแค่กรมเจ้าท่า (จท.) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) แง้มดูมีโครงการใหญ่ในมือที่ต้องเร่งผลักดัน “ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3” มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท รองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

“จะเร่งปรับปรุงโป๊ะให้ปลอดภัย รวมถึงท่าเรือให้เป็นสถานีเรือที่ทันสมัย จำนวน 19 ท่าตามลำน้ำเจ้าพระยา ใช้งบฯ 800 ล้านบาท จะเสร็จในปี 2565 นำร่องที่ท่าเรือสาทรก่อน ใช้งบฯ 14 ล้านบาท จะแล้วเสร้จในเดือน ก.พ. 2563 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการเรือข้ามฟากและเรือด่วนเจ้าพระยา ส่วนการเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ต้องรอบคอบจะไม่ให้มีค่าโง่เกิดขึ้น”

ฝั่ง “ถาวร เสนเนียม” รัฐมนตรีช่วยจากพรรคประชาธิปัตย์ ดูงานทางอากาศเป็นหลัก ถึงจะไม่ได้ “ทอท.” ไว้ในอุ้งมือ แต่ก็ได้คุมการบินไทยที่จ่อซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำ มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านเป็นการชดเชย

สำหรับหน่วยงานที่ดูแลมีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) บมจ.การบินไทย บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.) บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเชีย จำกัด (ทอส.) และบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (บทม.)

ซื้อแน่ฝูงบินใหม่ 38 ลำ

“การบินไทยเคยได้รับการขนานนามว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ จะต้องพลิกฟื้นกลับคืนมาให้ได้ จากที่ได้รับรายงานยอดขาดทุนประมาณ 4,000 ล้านบาทถือว่าไม่มาก แต่โลกการแข่งขันขนส่งทางอากาศสูงมาก การลดค่าใช้จ่ายก็เป็นแผนธุรกิจทำให้มีกำไร ดังนั้น การบริหารตั้งแต่เวลา เส้นทางการบิน จัดซื้อเครื่องบินใหม่ หรือการซ่อมและรีโนเวตอยู่ในแผนฟื้นฟูต้องเร่งเดินหน้าโดยเร็ว” นายถาวรกล่าวและว่า

ส่วนกรมท่าอากาศยานรับผิดชอบสนามบินภูมิภาค 29 แห่ง กำลังก่อสร้างมีกระบี่และตรังอีก 2 ปีเสร็จ ที่ได้รับงบฯแล้วจะขยายมีนราธิวาส และกำลังสร้างแห่งใหม่มีที่เบตง ซึ่งการดำเนินงานไม่ค่อยมีปัญหาเหมือนการบินไทยเพราะได้รับงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว ทั้งนี้ ด้วยการเติบโตของธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะภูเก็ตจะต้องมีการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ที่พังงา เช่นเดียวกับเชียงใหม่จะมีแห่งที่ 2 ที่ลำพูน เพื่อลดความแออัด

อย่างไรก็ตาม จากปริมาณหน่วยงานที่แบ่งไม่เท่ากัน “ศักดิ์สยาม” ขยายความว่า การทำงานจะเป็นทีมเพื่อให้งานของคมนาคมมีประสิทธิภาพ ถึงจะแบ่งงานกัน แต่ทุกโครงการก็ต้องผ่านตนทั้งหมดก่อนที่จะเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อขออนุมัติ

หลังแบ่งงานกันเสร็จสรรพ ล่าสุด “ศักดิ์สยาม-อธิรัฐ-ถาวร” กำลังเร่งจัดขุมกำลังผลักดันโครงการในมือให้สะดวกโยธิน ทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) และเบอร์หนึ่งแต่ละหน่วย

จี้นโยบายด่วนเห็นผล 1-3 เดือน

ขณะที่การผลักดันนโยบายด้วยสไตล์การเมืองที่ต้องการสร้างผลงานให้จับต้องและเป็นที่ประจักษ์โดยเร็ว จึงเน้นเชิงรุก “สั่งแล้วต้องทำ” ตามนโยบายเร่งด่วน 1 เดือน 3 เดือน 3 ปี

มีเดดไลน์ให้ทุกหน่วยส่งการบ้านภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยเฉพาะการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ภารกิจเฉพาะหน้าของ “รัฐบาลตู่ 2” ต้องทำได้จริงใน 1-3 เดือน ไม่ว่าหาแนวทางลดราคาค่ารถไฟฟ้า ทางด่วน มอเตอร์เวย์ โทลล์เวย์

รวมถึงพัฒนาการให้บริการรถโดยสารประจำทาง ขสมก. และรถร่วม ให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศทั้งระบบ จัดเก็บค่าโดยสารเป็นระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) และระบบตั๋วร่วม

เพื่อให้ทุกอย่างรวดเร็ว “ศักดิ์สยาม” จะตั้งคณะทำงานนำนโยบายเร่งด่วนแปรไปสู่การปฏิบัติ มี “ปลัดกระทรวงคมนาคม” เป็นผู้รับสนองนโยบาย ทั้งแต่งตั้งโยกย้าย ลดค่าครองชีพ ปรับความเร็วรถวิ่ง 120 กม./ชม. จัดสรรงบประมาณปี 2563 ขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่

เดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ตามแผน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการลงทุนในแผนคมนาคม 8 ปีก็ยังเดินหน้าตามเดิมเพราะเป็นโครงการที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่อาจจะจัดลำดับความสำคัญใหม่ตามความพร้อมของโครงการและการหาแหล่งเงินมาลงทุน ทั้งจากงบประมาณ เงินกู้ ให้เอกชนร่วมลงทุน PPP บางโครงการอาจจะช้าหน่อย เช่น สายสีส้มศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ที่ติด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

สอดคล้องกับ “ศักดิ์สยาม” ระบุว่า การผลักดันโครงการขนาดใหญ่จะใช้รูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP และระดมทุนผ่านกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFF) มาเป็นเครื่องมือในการลงทุนตามที่รัฐบาลมีนโยบายเพื่อลดภาระงบประมาณของประเทศ

เช่น มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ที่กำลังก่อสร้างจะทยอยเปิดบริการจะให้เอกชนมาร่วมเดินรถ ส่วนทางคู่ระยะต่อไปจะให้เอกชนลงทุนทั้งก่อสร้างและเดินรถ โดยตั้งเป้าภายใน 3 ปีนี้จะพัฒนารถไฟทางคู่เพื่อเพิ่มการขนส่งระบบรางให้เป็น 30%

“เมกะโปรเจ็กต์ในแผนก็ยังเดินหน้า รวมถึงโครงการในอีอีซี รถไฟความเร็วสูง แหลมฉบัง อู่ตะเภา ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน แต่การลงทุนมีความเสี่ยง ต้องคิดให้ดี การเร่งรัดก็ต้องดูให้เรียบร้อย ไม่ใช่ปล่อยให้ทำแบบถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง เรา 3 คนจะไปช่วยดูว่าติดอะไร ถ้าติดสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม ก็จะประสานรัฐมนตรีที่ดูเรื่องนี้ให้ แต่ขอย้ำว่าต้องเป็นโครงการที่พร้อมจริง ๆ เพราะมีไทม์ไลน์ของงบประมาณอยู่ หากไม่ได้เซ็นสัญญาตามกำหนดจะถูกริบงบฯคืน ซึ่งงบฯปี”63 ก็ให้นโยบายเสนอโครงการที่พร้อมเดินหน้าได้จริง ๆ”

ขณะเดียวกัน จะพัฒนาสนามบินหลักอย่างสุวรรณภูมิที่กำลังก่อสร้างเฟสที่ 2 เดินหน้าอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และรันเวย์ 3 ส่วนดอนเมืองก็มีแผนจะขยายขีดความสามารถเพิ่ม และขยายสนามบินในภูมิภาคเพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารทางอากาศ 150 ล้านคน ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันรองรับได้ 100 ล้านคน เพื่อนำประเทศไทยไปสู่เป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค

สางปมข้อพิพาท-ตีกันรับเหมาจีน

สำหรับการแก้ปัญหาข้อพิพาทโดยเฉพาะกรณีขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่สังคมกำลังเฝ้าจับตาถึงบทสรุปสุดท้าย

“ศักดิ์สยาม” ย้ำว่า ก่อนจะเดินหน้าต้องศึกษารายละเอียดให้ครบถ้วน จะตั้งคณะทำงานมีรองปลัดกระทรวงคมนาคมศึกษา 14 วันถึงจะมีคำตอบสุดท้ายจะเดินหน้าอย่างไร เช่นเดียวกับคดีโฮปเวลล์ที่กำลังดูรายละเอียดหลังอัยการสูงสุดได้พบหลักฐานใหม่ที่จะนำไปสู่การสู้คดี

แต่ที่น่าสนใจการชูนโยบาย “Thai First” คือ ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน ดูเหมือนกำลังส่งสัญญาณไปถึงการประมูลงานก่อสร้างโครงการใหญ่ ๆ ซึ่งปัจจุบันมีรับเหมาจีนเข้ามาตีตลาดวงการรับเหมาไทยจำนวนมาก

ล่าสุดงานประมูลทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก ที่รับเหมาจีนดัมพ์ราคาไปได้ถึง 3 สัญญา และเจ้ากระทรวงคมนาคมกำลังขอดูข้อมูลอย่างละเอียด

หลังมีบิ๊กรับเหมาไทยร้องปมคุณสมบัติ และการดำเนินการไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ทำให้ผลประมูลงานโยธา 4 สัญญา วงเงิน 2.9 หมื่นล้านบาท ยังติดหล่มอยู่ที่บอร์ด ยังไม่รู้จะได้เดินหน้าต่อไปหรือไม่